about
อาณาจักร

เกี่ยวกับเรา

“อาณาจักร” ANAJAK.CO เป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมธุรกิจในประเทศไทยที่น่าสนใจ ผ่านการคัดสรรด้วยคุณภาพและความน่าเชื่อถือ ครอบคลุมทั้งธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง ไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ ไว้อย่างครบถ้วนในที่เดียว
เกี่ยวกับอาณาจักร

ความรู้พื้นฐานทางธุรกิจ

ธุรกิจ (Business) หมายถึง กระบวนการของกิจการทางเศรษฐกิจที่สัมพันธ์เป็นระบบ และอย่างต่อเนื่องในด้านการผลิต การซื้อขายแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับสินค้าและบริการ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะได้กำไรหรือผลตอบแทนจากกิจกรรมนั้น

ความหมายและความสำคัญของธุรกิจ

ธุรกิจ (Business) หมายถึง กระบวนการของกิจการทางเศรษฐกิจที่สัมพันธ์เป็นระบบ และอย่างต่อเนื่องในด้านการผลิต การซื้อขายแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับสินค้าและบริการ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะได้กำไรหรือผลตอบแทนจากกิจกรรมนั้น 

Table of Contents
  1. ความหมายและความสำคัญของธุรกิจ
  2. ความสำคัญของธุรกิจ พอสรุปได้ดังนี้ 
  3. หน้าที่และความรับผิดชอบของธุรกิจ
    1. หน้าที่ของธุรกิจ
  4. ความรับผิดชอบของธุรกิจ
  5. จุดมุ่งหมายของการดำเนินธุรกิจ 
  6. ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการประกอบธุรกิจ 
  7. ประเภทของการประกอบธุรกิจและรูปแบบขององค์กรธุรกิจ*
    1. ความหมายของการประกอบธุรกิจ 
    2. รูปแบบขององค์กรธุรกิจ
  8. สถาบันทางธุรกิจ 
    1. ความหมายของสถาบันทางธุรกิจ 
    2. ประเภทของสถาบันทางธุรกิจ 
  9. หน้าที่และประโยชน์ของสถาบันทางธุรกิจ 
    1. 2.1 ธนาคารหรือธนาคารแห่งประเทศไทย 
    2. ธนาคารแห่งประเทศไทยมี 3 สาขา คือ
    3. 2.2 ธนาคารพาณิชย์ 
    4. 2.3 ธนาคารออมสิน 
    5. 2.4 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 
    6. 2.5 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 
    7. 2.6 บริษัทค้าหลักทรัพย์และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 
    8. 2.7 ธุรกิจประกันภัย
    9. 2.8 ธุรกิจการขนส่ง หลักในการพิจารณาเลือกเส้นทางและประเภทการขนส่งคือ 
  10. คุณลักษณะของนักธุรกิจ 
    1. บุคลิกภาพของนักธุรกิจ 
    2. จรรยาบรรณของนักธุรกิจ 
    3. อุดมการณ์ของนักธุรกิจ

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า กิจกรรมใดที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ได้กำไร (Profit) ถือว่าเป็นธุรกิจ เช่น บริษัท ห้างร้าน ตลอดจนรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ การดำเนินของรัฐ เช่น การป้องกันประเทศ การสร้างถนนหนทาง โรงเรียน โรงพยาบาล และอื่น ๆ ไม่ถือว่าเป็นธุรกิจเพราะมิได้มีจุดมุ่งหมายด้านกำไร แต่เป็นการให้บริการแก่ประชาชนโดยมีจุดมุ่งหมายให้ประชาชน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ความสำคัญของธุรกิจ พอสรุปได้ดังนี้ 

  1. ธุรกิจช่วยให้เศรษฐกิจของชาติมีความเจริญก้าวหน้าและมั่นคง 
  2. ธุรกิจทำให้ประชาชนมีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น 
  3. ธุรกิจทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น 
  4. ธุรกิจช่วยแก้ปัญหาทางสังคม 
  5. ธุรกิจทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี 

หน้าที่และความรับผิดชอบของธุรกิจ

หน้าที่ของธุรกิจ

การประกอบธุรกิจนั้นผู้ประกอบการจะต้องทำหน้าที่ต่าง ๆ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปได้ด้วยดี หน้าที่ต่าง ๆ ของธุรกิจมีดังนี้ 

  1. การผลิตสินค้า ธุรกิจอาจเลือกผลิตสินค้าหลายชนิด เช่น ผู้ผลิตสินค้าสำเร็จรูป 
  2. การให้บริการ เป็นธุรกิจที่อำนวยความสะดวกให้แก่ธุรกิจและผู้บริโภค 
  3. การจำแนกแจกจ่ายสินค้า ธุรกิจดำเนินการเกี่ยวกับการซื้อขาย 
  4. การจัดซื้อ ธุรกิจจำเป็นต้องมีการจัดซื้อวัตถุดิบเพื่อการดำเนินการ 
  5. การเก็บรักษาสินค้า ธุรกิจจะต้องเก็บรักษาวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปเพื่อบริการให้แก่ลูกค้า 
  6. การจัดจำหน่าย ธุรกิจมีหน้าที่จัดแสดงสินค้าเพื่อง่ายต่อการซื้อ 
  7. การจัดการทางการเงิน ธุรกิจมีหน้าที่จัดหาเงินทุนและบริหารเงินทุนที่มีจำนวนจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด 
  8. การจัดทำบัญชี ธุรกิจมีหน้าที่จัดทำบัญชีเพื่อเสียภาษี 
  9. การทำการโฆษณาสินค้า ธุรกิจมีหน้าที่โฆษณาและประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคได้รู้จักสินค้า และเกิดการตัดสินใจซื้อในที่สุด

ความรับผิดชอบของธุรกิจ

 ธุรกิจมีฐานะเป็นหน่วยหนึ่งของสังคม จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อบุคคล หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้ 

  1. ความรับผิดชอบต่อเจ้าของกิจการ ดำเนินธุรกิจให้เกิดกำไรสูงสุด 
  2. ความรับผิดชอบต่อลูกค้า การให้บริการลูกค้าให้ดีที่สุด 
  3. ความรับผิดชอบที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของรัฐ 
  4. ความรับผิดชอบต่อลูกจ้าง ในด้านสวัสดิการของลูกจ้าง 
  5. ความรับผิดชอบต่อสังคม โดยให้สังคมได้รับประโยชน์ตามสมควร

จุดมุ่งหมายของการดำเนินธุรกิจ 

จุดมุ่งหมายของการดำเนินธุรกิจ คือ ต้องการให้ได้กำไรมากที่สุด (Maximized Profit) ซึ่งต่างจากการดำเนินงานของหน่วยราชการและองค์การกุศล ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการให้บริการแก่ประชาชน โดยไม่หวังผลตอบแทน

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการประกอบธุรกิจ 

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการประกอบธุรกิจสามารถแยกได้ 2 ลักษณะคือ 

1. ปัจจัยภายใน หรือทรัพยากรของธุรกิจเป็นปัจจัยที่ธุรกิจ สามารถสร้างขึ้นและสามารถควบคุมได้ ได้แก่

  •  คน (Man) หมายถึง กำลังคน 
  • เงิน (Money) หมายถึง เงินทุน 
  • วัสดุ (Meterial) หมายถึง กระบวนการต่าง ๆ เช่น การวางแผน การจัดองค์การ ฯลฯ

2. ปัจจัยภายนอก เป็นปัจจัยที่ธุรกิจไม่สามารถจะควบคุมกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงได้ ได้แก่ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เช่น ภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ กฎหมายการเมือง คู่แข่ง เทคโนโลยี ฯลฯ

ประเภทของการประกอบธุรกิจและรูปแบบขององค์กรธุรกิจ*

ความหมายของการประกอบธุรกิจ 

การประกอบธุรกิจ (Business Activities) หมายรวมถึง กระบวนการประกอบการผลิตกระบวนการประกอบการจำหน่าย กระบวนการประกอบการบริหาร เพื่อให้ได้ถึงมือผู้บริโภค

การจำแนกประเภทของการประกอบธุรกิจตามลักษณะของกิจกรรม 
สามารถแบ่งได้เป็น 5 ลักษณะคือ 

  1. ธุรกิจที่จัดหาวัตถุดิบสำหรับป้อนโรงงานหรือแหล่งผลิต เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตร 
  2. ธุรกิจที่เปลี่ยนวัตถุดิบเป็นวัตถุกึ่งสำเร็จรูป เช่น โรงงานทอผ้า 
  3. ธุรกิจที่ผลิตผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำมาใช้อุปโภคบริโภคได้ทันที เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป 
  4. ธุรกิจที่เป็นคนกลาง ทำหน้าที่ช่วยให้สินค้าเปลี่ยนมือจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่ง เช่น พ่อค้าส่ง พ่อค้าปลีก 
  5. ธุรกิจที่เป็นผู้ให้บริการ เช่น ธนาคาร การประกันภัย 

รูปแบบขององค์กรธุรกิจ

 รูปแบบขององค์กรธุรกิจที่ดำเนินอยู่ในวงการธุรกิจของประเทศไทย จำแนกรูปแบบได้ดังต่อไปนี้

1. กิจการเจ้าของคนเดียว 

2. ห้างหุ้นส่วน แยกออกเป็น 

  • ห้างหุ้นส่วนสามัญ 
  • ห้างหุ้นส่วนจำกัด

3. บริษัทจำกัด

4. การสหกรณ์ แบ่งเป็น 6 ประเภท 

  1. สหกรณ์การเกษตร 
  2. สหกรณ์ประมง 
  3. สหกรณ์นิคม 
  4. สหกรณ์ร้านค้า 
  5. สหกรณ์ออมทรัพย์ 
  6. สหกรณ์บริการ

5. รัฐวิสาหกิจ

สถาบันทางธุรกิจ 

ความหมายของสถาบันทางธุรกิจ 

สถาบันทางธุรกิจ หมายถึง องค์กรที่ดำเนินธุรกิจที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อธุรกิจด้วยกันอย่างสอดคล้อง

ประเภทของสถาบันทางธุรกิจ 

1.1 สถาบันทางการเงิน ได้แก่ 

1.1.1 ธุรกิจธนาคาร หมายถึง ธุรกิจที่มีหน้าที่รับฝากและให้กู้ยืมเงิน แบ่งได้ 3 ประเภทคือ 
ธนาคารกลางหรือธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นธนาคารที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับระบบการเงินของประเทศ บุคคลโดยทั่วไปไม่มีสิทธิเข้าไปเกี่ยวข้องหรือใช้บริการได้ ธนาคารพาณิชย์ เป็นธนาคารที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบุคคลมากที่สุด เป็นแหล่งเงินฝากหรือกู้ที่สำคัญที่สุดของประชาชน และธุรกิจในประเทศ

ธนาคารเฉพาะ มีอยู่ 3 ธนาคาร คือธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นธนาคารที่รัฐตั้งขึ้นมาเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านต่าง ๆ 

1.1.2 ธุรกิจบริษัทค้าหลักทรัพย์และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หมายถึง การประกอบธุรกิจเป็นเงินทุนและหลักทรัพย์ จะต้องทำในรูปของบริษัทจำกัด และต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กระทำโดยการออกตราสารเครดิตในสัญญาใช้เงิน เพื่อกู้ยืมเงินจากประชาชนไปใช้ในกิจการบริษัทหรือนำไปกู้ยืมต่อ แต่อยู่ในวงเงินจำกัด การดำเนินงานของธุรกิจแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ

ธุรกิจเงินทุน คือ ธุรกิจการจัดหาซึ่งที่มาของเงินทุนและใช้เงินซึ่งจัดหามานั้น ไปประกอบกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง
ธุรกิจหลักทรัพย์ คือ การซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนตราสารแสดงสิทธิในหนี้หรือทรัพย์สิน หรือการกระทำหน้าที่เป็นตัวแทนนายหน้าแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนในตราสาร 

ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ คือ ธุรกิจที่ประกอบกิจการให้กู้ยืมเงินโดยวิธีการรับจำนอง รับซื้ออสังหาริมทรัพย์ตามสัญญาขายฝาก

1.1.3 ธุรกิจประกันภัย 
หมายถึง ธุรกิจที่ทำหน้าที่แบ่งเบาดภัยที่จะเกิดขึ้นกับการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งอาจจะเกิดความเสียหายกับทรัพย์สินหรือชีวิต ธุรกิจดังกล่าวจะช่วยเฉลี่ยความเสียหายที่จะเกกิดจากภัยนั้นให้เบาบางลงไป โดยผู้เอาประกันจะต้องเสียค่าเบี้ยประกันในการให้บริการ

การประกันภัยมี 2 ประเภท 

การประกันชีวิต 

การประกันวินาศภัยแบ่งออกเป็น 

  • การประกันอัคคีภัย 
  • การประกันภัยทางทะเล 
  • การประกันภัยรถยนต์ 
  • การประกันภัยเบ็ดเตล็ด

1.2 สถาบันอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ธุรกิจการขนส่ง 

การขนส่ง หมายถึง การนำสิ่งของ มนุษย์หรือสัตว์ จากที่หนึ่งไปยังจุดหมายปลายทางอีกแห่งหนึ่ง ต้องมีเครื่องอุปกรณ์ในการขนส่ง เช่น รถยนต์ รถไป หรือเครื่องบิน หรือสายท่อทางใดทางหนึ่ง

การขนส่งเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งที่เป็นรากฐานสำคัญ ในการพัฒนาประเทศในทางเศรษฐกิจ และเป็นกิจกรรมสาธารณะอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวันของชุมชนและธุรกิจ

หน้าที่และประโยชน์ของสถาบันทางธุรกิจ 

2.1 ธนาคารหรือธนาคารแห่งประเทศไทย 

จัดตั้งเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2485 โดยมีพระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าววิวัฒนไชยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคาร แห่งประเทศไทยเป็นพระองค์แรก เริ่มแรกมีสำนักงานที่อยู่ที่ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2488 จึงได้ย้ายมาที่บางขุนพรหม จนถึงปัจจุบัน

ธนาคารแห่งประเทศไทยมี 3 สาขา คือ

  1. สาขาภาคใต้ สำนักงานอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 
  2. สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักงานอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น 
  3. สาขาภาคเหนือ สำนักงานอยู่ที่จังหวัดลำปาง 

มีหน้าที่ดังต่อไปนี้

 1. ออกและพิมพ์พันธบัตรซึ่งในการพิมพ์ใช้แต่ละครั้ง จะต้องมีทุนสำรองเงินตราหนุนหลังอยู่เสมอ 

2. เป็นนายธนาคารของธนาคารพาณิชย์โดยทำหน้าที่ 

  • เก็บรักษาเงินสดสำรองตามกฎหมายจากยอดเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ 
  • เป็นแหล่งเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ 

3. ทำหน้าที่ทางด้านการเงินแทนรัฐ โดยมีหน้าที่ 

  • เก็บรักษาเงินฝากของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ 
  • เป็นแหล่งเงินกู้ให้รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ 
  • จำหน่ายพันธบัตรรัฐบาล 
  • จัดการหนี้สินทั้งภายในและภายนอกแทนรัฐบาล

4. เป็นผู้ควบคุมการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์

5. การควบคุมอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราภายในประเทศ

6. เป็นสำนักหักบัญชีระหว่างธนาคารโดยธนาคาร แต่ละแห่งไม่ต้องเรียกเก็บเงินกันเอง

2.2 ธนาคารพาณิชย์ 

ธนาคารพาณิชย์หมายถึง การประกอบธุรกิจประเภทรับฝากเงินที่จะต้องจ่ายเงิน เมื่อทวงถามหรือสิ้นระยะเวลาอันได้กำหนดไว้ หรือใช้ประโยชน์เงินนั้นในทางหนึ่งหรือหลายทาง เช่น ให้กู้ยืมซื้อหรือขาย หรือเก็บเงินตามตั๋วแลกเงิน ซื้อหรือขายเงินปริวรรตต่างประเทศ 

เริ่มมีในประเทศไทยในรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยอังกฤษ ได้มาจัดตั้งสาขาของธนาคารขึ้นในประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2431 คือธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ โดยในปัจจุบันธนาคารในประเทศไทยของคนไทยมีจำนวน 15 ธนาคาร (เป็นสาขาของต่างประเทศอีก 14 ธนาคาร) รายชื่อธนาคารในประเทศไทยของคนไทย มีดังนี้ 

  1. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด 
  2. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด 
  3. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด 
  4. ธนาคารทหารไทย จำกัด 
  5. ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด 
  6. ธนาคารศรีนคร จำกัด ลฯ 

มีหน้าที่ดังต่อไปนี้ 

1. บริการรับฝากเงิน 

  • เงินฝากออมทรัพย์ มีจุดประสงค์ที่จะส่งเสริมให้ประชาชนเก็บออม โดยเปิดบัญชีครั้งแรก 100 บาท 
  • เงินฝากแบบประจำ เป็นแบบของการเก็บออมของผู้มีเงินได้ค่อนข้างประจำ เปิดบัญชีครั้งแรกไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท 
  • เงินฝากกระแสรายวัน ส่วนมากจะทำแต่พ่อค้าหรือนักธุรกิจ เปิดบัญชีครั้งแรกไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท การโอนบัญชีต้องใช้เช็คและต้องใช้ไม่ต่ำกว่า 10 บาท 
  • เงินฝากประเภทอื่น ๆ เป็นเงินฝากที่ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของธนาคารหรือกลยุทธ์ในด้าน การส่งเสริมด้านการตลาดของธนาคาร

2. บริการเงินกู้ 

  • การเบิกเงินเกินบัญชี เป็นการกู้ที่ได้รับความนิยมที่สุด 
  • การใช้เงินกู้ระยะสั้น – ระยะยาว ต้องตกลงกับธนาคารโดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันการชำระเงิน อาจทำได้โดยการผ่อนชำระเป็นงวด ๆ ตั้งแต่ 1 – 25 ปี 
  • การรับซื้อลดตั๋ว เมื่อผู้ส่งตั๋วมีความประสงค์จะใช้เงินก่อนตั๋วนั้นถึงกำหนดเวลา 
  • การรับรองตั๋ว หมายถึง การรับรองจากธนาคารว่าผู้ทรงตั๋วจะได้รับเงินแน่นอน 
  • การอาวัล หมายถึง การที่ธนาคารรับประกันการจ่ายเงินแทนเจ้าของตั๋วทั้งหมดหรือบางส่วน 

3. บริการด้านการต่างประเทศ 

  • การให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตลาดต่างประเทศ 
  • การเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต (Letter of Credit) การส่งสินค้า L/C จะช่วยให้เกิดความมั่นใจทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ที่นิยมใช้กันแพร่หลายมี 2 ชนิดคือ
  • เลตเตอร์ออฟเครดิตประเภทเพิกถอนได้ ผู้เกี่ยวข้องสามารถยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข ได้ทุกเวลา แต่ต้องก่อนที่จะมีการรับซื้อเอกสารนั้น 
  • เลตเตอร์ออฟเครดิตประเภทเพิกถอนไม่ได้ธนาคารผู้เปิด L/C มีพันธะผูกพันแน่นอน ตาม L/C ที่เปิดจะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขไม่ได้นอกจากจะได้รับการยินยอม 

4. บริการอื่น ๆ 

  • การใช้บริการบัตรเครดิต 
  • การใช้บริการเงินด่วนทางเครื่องเอทีเอ็ม 
  • การให้บริการคุ้มครองอุบัติเหตุ 
  • การให้บริการเช่าตู้นิรภัย 
  • การบริการชำระเงินค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ 
  • การโอนเงินด้วยระบบ ON-LINE 
  • การเตรียมเงินไว้จ่ายเงินเดือน
  • การเรียกเก็บเงิน
  • การบริการเช็คของขวัญ
  • การเป็นผู้จัดการมรดกให้การแนะนำด้านการลงทุน
  • การหาผลประโยชน์ให้เจ้าของเงินทุน
  • การให้ข้อมูลทางเครดิต
  • รับชำระภาษีรถยนต์ประจำปี

2.3 ธนาคารออมสิน 

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงสนพระทัยวิธีการของทางออมสินเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ ทรงเริ่มนำเอากิจการด้านธนาคารออมสินมาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ 2450 โดยทดลองรับฝากเงินขึ้นเรียกว่า “แบงค์ลีฟอเทีย” และประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2456 เพื่อจัดตั้งคลังออมสิน

มีหน้าที่ต่อไปนี้ 

  1. ทำหน้าที่ระดมเงินออม ทำหน้าที่ในการส่งเสริมการออมทรัพย์ของประชาชน ในการรับฝากเงินและบริการประเภทต่าง ๆ 
  2. แหล่งเงินกู้ภายในประเทศของรัฐบาล 
  3. การส่งเสริมการออมทรัพย์โดยจัดตั้งหน่วยงานทำหน้าที่ใน การดำเนินงานส่งเสริมการออมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง เรียกว่า “กองการส่งเสริมการออมทรัพย์” 
  4. การมีส่วนส่งเสริมตลาดทุนและตลาดเงิน ธนาคารออมสินได้ทำหน้าที่จำหน่าย พันธบัตรรัฐบาล เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการซื้อหลักทรัพย์ของรัฐบาล

2.4 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 

เมื่อ พ.ศ. 2490 รัฐบาลได้จัดตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรขึ้น เพื่อเป็นแหล่งกลางทางการเงินของ กระบวนนการสหกรณ์เพื่อการระดมทุนให้สหกรณ์นำไปใช้ ธนาคารเพื่อการสหกรณ์ได้นำไปให้เกษตรกรกู้ ประมาณร้อยละ 5 ของเกษตรกรทั่วประเทศ โดยจัดตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขึ้นแทน ธ.ก.ส. เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นตามนโยบายพิเศษของรัฐบาลต่อเนื่อง มาจากธนาคารเพื่อการสหกรณ์เดิม ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2509 เป็นต้นมา

มีหน้าที่ต่อไปนี้ 

  • ให้สินเชื่อการเกษตรแก่สถาบันการเกษตรและเกษตรกร 
  • ส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรและสถาบันเกษตร ประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องจากเกษตรกร 
  • ส่งเสริมสนับสนุนการตั้งสหกรณ์การตลาดในหมู่เกษตรกร 
  • ส่งเสริมการออมเงินของเกษตรกรและชาวชนบท 
  • สร้างสรรค์โอกาสในการช่วยเหลือตนเองในหมู่ของเกษตรกร 

2.5 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 

ธนาคารอาคารสงเคราะห์สังกัดกระทรวงการคลัง ก่อตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. 2496 ในปี 2515 รัฐบาลสมัยจอมพลถนอม กิติขจร ได้ตั้งหน่วยงานเคหะขึ้นและได้โอนกิจการเกี่ยวกับการเช่าซื้อที่ดิน การให้เช่าซื้อที่ดินหรืออาคารของธนาคาร อาคารสงเคราะห์ไปขึ้นอยู่กับการเคหะแห่งชาติ 

มีหน้าที่ต่อไปนี้ 

  1. รับฝากเงิน 5 ประเภท ได้แก่เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ เงินฝากประจำ และเงินฝากออมทรัพย์สินเคหะ 
  2. ให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อที่ดิน และอาคารเป็นของตนเอง 
  3. รับจำนำหรือจำนองทรัพย์สินเพื่อเป็นการประกันเงินกู้

2.6 บริษัทค้าหลักทรัพย์และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 

มีหน้าที่และประโยชน์ คือ 

  1. กระจายความเสี่ยงในการลงทุน 
  2. การลงทุนผ่านบริษัทย่อมดีกว่า ลดภาระกับผู้ลงทุนรายย่อย 
  3. การลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ช่วยให้มีการออมเงินในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจส่วนรวม 
  4. การกระจายรายได้เป็นธรรมขึ้น

2.7 ธุรกิจประกันภัย

 ปัจจุบันธุรกิจประกันชีวิต มี 12 บริษัท เป็นบริษัทประกันชีวิตของไทย 11 บริษัท และสาขาของบริษัทต่างประเทศอีก 1 บริษัท ดังนี้ 

  1. บริษัท อินเตอร์ไลฟ์ประกันภัย จำกัด 
  2. บริษัท สยามประกันชีวิต จำกัด 
  3. บริษัท ไทยประสิทธิประกันภัย จำกัด 
  4. บริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำกัด 
  5. บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด 
  6. บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด 
  7. บริษัท สมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด 
  8. บริษัท ประกันชีวิตศรีอยุธยา จำกัด 
  9. บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด 
  10. บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันชีวิต จำกัด 
  11. บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด 
  12. บริษัท เอ.ไอ.เอ จำกัด

คำศัพท์ที่สำคัญที่ควรเข้าใจในธุรกิจประกันภัย 

  • ผู้เอาประกัน (Insured or Assured) หมายถึง ผู้ที่แสดงความจำนงจะทำสัญญาประกันภัยกับผู้รับประกันและยินดีจ่ายเบี้ยประกัน
  • ผู้รับประกัน หมายถึง บริษัทผู้รับประกันภัยที่ยินยอมรับเบี้ยประกันจากผู้เอาประกัน และยินยอมใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยที่รัฐคุ้มครองนั้น
  • ผู้รับประโยชน์ หมายถึง บุคคลที่จะเป็นผู้รับประโยชน์จากค่าสินไหมทดแทนตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ซึ่งผู้รับประโยชน์อาจเป็นคน ๆ เดียวกับผู้เอาประกันก็ได้
  • กรมธรรม์ประกันภัย หมายถึง สัญญาที่ระบุเงื่อนไขต่าง ๆ ระหว่างผู้รับประกันและผู้เอาประกัน

หน้าที่และประโยชน์ของธุรกิจประกันภัยมีดังนี้ 

  1. ทำให้เกิดหลักประกันที่มั่นคงในการดำเนินธุรกิจ 
  2. ช่วยให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนหรือส่วนรวม 
  3. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน 
  4. ช่วยสร้างหรือเพิ่มเครดิตในการประกอบธุรกิจ 
  5. ทำให้เกิดความมั่นคงในครอบครัว 

2.8 ธุรกิจการขนส่ง หลักในการพิจารณาเลือกเส้นทางและประเภทการขนส่งคือ 

  1. จุดหมายปลายทาง 
  2. ชนิดของสิ่งของที่ต้องการขนส่ง 
  3. ขนาดและน้ำหนักของสิ่งที่ต้องการขนส่ง 
  4. ความเร่งด่วนในการใช้ของสิ่งนั้น 
  5. ค่าใช้จ่ายในการขนส่ง

ปัจจุบันมีการจัดกระบวนการขนส่งตามประเภท และความเหมาะสมของสิ่งของที่จะทำการขนส่ง 6 ทาง ซึ่งมีหน้าที่และประโยชน์ ดังนี้ 

  1. การขนส่งทางเรือ เป็นการขนส่งที่เก่าแก่ที่สุดเหมาะกับการขนส่งสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก และทนทานต่อการเน่าเสีย 
  2. การขนส่งทางรถยนต์ เหมาะกับการขนส่งสิ่งของที่มีน้ำหนักมากใช้เวลาไม่มากนัก ต้องการความรวดเร็วในการขนส่ง เป็นการขนส่งถึงหน้าประตูบ้าน 
  3. การขนส่งทางรถไฟ เหมาะกับการขนส่งสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก ใช้เวลาในการขนส่งมากกว่ารถยนต์ แต่มีความปลอดภัยมากกว่ารถยนต์ 
  4. การขนส่งทางอากาศ เป็นการขนส่งที่เร็วที่สุด เหมาะกับการส่งสินค้าที่ต้องการความเร่งด่วน เน่าเสียง่าย 
  5. การขนส่งด้วยระบบคอนเทนเนอร์ เป็นการขนส่งโดยบรรจุสิ่งของภายในตู้คอนเทนเนอร์ ช่วยให้ประหยัดเวลาในการยกขน ให้ความปลอดภัยและความรวดเร็วกับสิ่งของที่ทำการขนส่ง

คุณลักษณะของนักธุรกิจ 

บุคลิกภาพของนักธุรกิจ 

หมายถึงลักษณะท่าทาง หน้าตา การแต่งกาย และการวางตัวซึ่งนักธุรกิจควรจะทำให้เกิดความศรัทธาและน่าเชื่อถือ ในขณะเดียวกันควรจะมีความเฉลียวฉลาดและไหวพริบ ในการดำเนินธุรกิจซึ่งบุคลิกภาพของนักธุรกิจที่ควรมีได้แก่ 

  • การแต่งกายที่สุภาพ สะอาดตา 
  • มีอัธยาศัย ยิ้มแย้ม แจ่มใส 
  • มีความเชื่อมั่นในตนเอง 
  • เป็นผู้มีไหวพริบดี 
  • เป็นผู้ฟังและผู้พูดที่ดี 
  • เป็นผู้มองการณ์ไกล 
  • มีความอดทน 
  • กล้าที่จะประสบกับการขาดทุน ฯลฯ

จรรยา หมายถึง หลักความประพฤติที่ควรประพฤติ เช่น ความเมตตากรุณา การต้อนรับยินดี รู้จักเสียสละ เป็นต้น

มรรยาท หมายถึง ขนบธรรมเนียมประเพณีที่สามารถถือเป็นข้อปฏิบัติที่ดีงาม

จรรยาบรรณของนักธุรกิจ 

จรรยาบรรณ (Ethics) ไม่ใช่กฎหมายแต่เป็นข้อที่ควรปฏิบัติสำหรับอาชีพใดอาชีพหนึ่งเช่นแพทย์ ไม่ควรเปิดเผยความลับของคนไข้ เพราะผิดจรรยาแพทย์ เป็นต้น สำหรับการประกอบธุรกิจ ก็เช่นกัน ผู้ประกอบธุรกิจควรที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมที่เขาอาศัยอยู่ เช่น

  1. การให้สิ่งที่ดีต่อสังคม การผลิตสิ่งของที่ดีมีคุณภาพให้กับสังคม การไม่ปลอมปนสินค้า ความพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อผลที่เกิดจากการใช้สินค้าที่ผลิตออกไป การเลือกใช้วัตถุดิบที่ไม่มีอันตรายในการผลิตสินค้า
  2. ปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น กฎหมายแรงงาน ลดการเอารัดเอาเปรียบคนงาน ควรจ่ายค่าจ้างการทำงานและสวัสดิการในด้านการบริโภค การปฏิบัติตามกฎหมาย ว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเคร่งครัด
  3. สร้างงานที่มีการจ้างแรงงานสูง เช่น งานก่อสร้าง งานการเกษตร งานให้บริการต่าง ๆ งานเหล่านี้ในแง่ธุรกิจอาจให้ผลตอบแทนไม่สูงนัก แต่เป็นการช่วยสังคมไม่ให้มีการว่างงาน
  4. การกำหนดราคาสินค้า ไม่ควรกำหนดสูงไปเพื่อหวังกำไร แต่ควรพิจารณาถึงความเหมาะสม การไม่ฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าในขณะที่เกิดเภทภัยต่าง ๆ
  5. ป้องกันสภาพแวดล้อมเป็นพิษ เป็นปัญหาที่สำคัญมากที่สุด ในทางธุรกิจอุตสาหกรรมก็คือสิ่งแวดล้อมเป็นพิษหรือเกิดมลภาวะอากาศเป็นพิษ น้ำเสีย ของเสียที่ทับถมบนพื้นดิน สภาพแวดล้อมที่ดี ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ โดยจัดระบบการจำกัดและป้องกันให้เหมาะสม
  6. ให้ความสนับสนุนการศึกษา ธุรกิจจะต้องให้การช่วยเหลือและสนับสนุนการศึกษา ทั้งสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชน อาจทำได้โดยการให้ทุนการศึกษา กู้ยืมเงิน การฝึกงานดูงานของนักศึกษา เชิญผู้เชี่ยวชาญไปบรรยายให้นักศึกษาฟัง
  7. ให้บริการด้านสุขภาพอนามัยและนันทนาการ ควรช่วยเหลือกิจการต่าง ๆ และให้บริการด้านต่าง ๆ ของสังคม เช่น ลูกเสือชาวบ้าน การกุศล กิจกรรมต่าง ๆ

ความรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งต้องปฏิบัติดังกล่าวข้างต้นแล้ว ผู้ประกอบการทางธุรกิจ จะต้องมีคุณธรรม มีความยุติธรรม ผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ซื่อสัตย์สุจริต ไม่เอารัดเอาเปรียบสังคมอันเป็นส่วนรวมอีกด้วย

อุดมการณ์ของนักธุรกิจ

อุดมการณ์ซึ่งนักธุรกิจพึงมี ได้แก่

  1. หมั่นประกอบการดี และประพฤติเป็นคนดี
  2. ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยปฏิบัติให้สอดคล้องกับประโยชน์ของคนทั่วไป
  3. ต้องมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่
  4. ดำรงไว้ซึ่งชื่อเสียงและยึดถือปฏิบัติข้อบังคับของสมาคม การจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย
  5. ละเว้นการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว แต่ต้องปฏิบัติให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกิจการ โดยคำนึงข้อปฏิบัติของการจัดการที่ดี
  6. ละเว้นการปฏิบัติที่มีอคติต่อบุคคลอื่น ต้องตระหนักถึงศสักดิ์ศรีความเสมอภาคของกลุ่มและบุคคล
Table of Contents
  1. ความหมายและความสำคัญของธุรกิจ
  2. ความสำคัญของธุรกิจ พอสรุปได้ดังนี้ 
  3. หน้าที่และความรับผิดชอบของธุรกิจ
    1. หน้าที่ของธุรกิจ
  4. ความรับผิดชอบของธุรกิจ
  5. จุดมุ่งหมายของการดำเนินธุรกิจ 
  6. ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการประกอบธุรกิจ 
  7. ประเภทของการประกอบธุรกิจและรูปแบบขององค์กรธุรกิจ*
    1. ความหมายของการประกอบธุรกิจ 
    2. รูปแบบขององค์กรธุรกิจ
  8. สถาบันทางธุรกิจ 
    1. ความหมายของสถาบันทางธุรกิจ 
    2. ประเภทของสถาบันทางธุรกิจ 
  9. หน้าที่และประโยชน์ของสถาบันทางธุรกิจ 
    1. 2.1 ธนาคารหรือธนาคารแห่งประเทศไทย 
    2. ธนาคารแห่งประเทศไทยมี 3 สาขา คือ
    3. 2.2 ธนาคารพาณิชย์ 
    4. 2.3 ธนาคารออมสิน 
    5. 2.4 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 
    6. 2.5 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 
    7. 2.6 บริษัทค้าหลักทรัพย์และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 
    8. 2.7 ธุรกิจประกันภัย
    9. 2.8 ธุรกิจการขนส่ง หลักในการพิจารณาเลือกเส้นทางและประเภทการขนส่งคือ 
  10. คุณลักษณะของนักธุรกิจ 
    1. บุคลิกภาพของนักธุรกิจ 
    2. จรรยาบรรณของนักธุรกิจ 
    3. อุดมการณ์ของนักธุรกิจ

ที่มา: อักษรเจริญทัศน์ อจท.

Total
0
Shares
ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Previous Article

เหตุผลสำคัญในการเขียนแผนธุรกิจ

Next Article

ส่องดวงชะตา 12 ราศี ปี 2566 ธุรกิจใครดี ความรักใครเด่น

Related Posts