ความหมายและความสำคัญของธุรกิจ
ธุรกิจ (Business) หมายถึง กระบวนการของกิจการทางเศรษฐกิจที่สัมพันธ์เป็นระบบ และอย่างต่อเนื่องในด้านการผลิต การซื้อขายแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับสินค้าและบริการ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะได้กำไรหรือผลตอบแทนจากกิจกรรมนั้น
Table of Contents
- ความหมายและความสำคัญของธุรกิจ
- ความสำคัญของธุรกิจ พอสรุปได้ดังนี้
- หน้าที่และความรับผิดชอบของธุรกิจ
- ความรับผิดชอบของธุรกิจ
- จุดมุ่งหมายของการดำเนินธุรกิจ
- ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการประกอบธุรกิจ
- ประเภทของการประกอบธุรกิจและรูปแบบขององค์กรธุรกิจ*
- สถาบันทางธุรกิจ
- หน้าที่และประโยชน์ของสถาบันทางธุรกิจ
- 2.1 ธนาคารหรือธนาคารแห่งประเทศไทย
- ธนาคารแห่งประเทศไทยมี 3 สาขา คือ
- 2.2 ธนาคารพาณิชย์
- 2.3 ธนาคารออมสิน
- 2.4 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
- 2.5 ธนาคารอาคารสงเคราะห์
- 2.6 บริษัทค้าหลักทรัพย์และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์
- 2.7 ธุรกิจประกันภัย
- 2.8 ธุรกิจการขนส่ง หลักในการพิจารณาเลือกเส้นทางและประเภทการขนส่งคือ
- คุณลักษณะของนักธุรกิจ
ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า กิจกรรมใดที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ได้กำไร (Profit) ถือว่าเป็นธุรกิจ เช่น บริษัท ห้างร้าน ตลอดจนรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ การดำเนินของรัฐ เช่น การป้องกันประเทศ การสร้างถนนหนทาง โรงเรียน โรงพยาบาล และอื่น ๆ ไม่ถือว่าเป็นธุรกิจเพราะมิได้มีจุดมุ่งหมายด้านกำไร แต่เป็นการให้บริการแก่ประชาชนโดยมีจุดมุ่งหมายให้ประชาชน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ความสำคัญของธุรกิจ พอสรุปได้ดังนี้
- ธุรกิจช่วยให้เศรษฐกิจของชาติมีความเจริญก้าวหน้าและมั่นคง
- ธุรกิจทำให้ประชาชนมีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น
- ธุรกิจทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น
- ธุรกิจช่วยแก้ปัญหาทางสังคม
- ธุรกิจทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
หน้าที่และความรับผิดชอบของธุรกิจ
หน้าที่ของธุรกิจ
การประกอบธุรกิจนั้นผู้ประกอบการจะต้องทำหน้าที่ต่าง ๆ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปได้ด้วยดี หน้าที่ต่าง ๆ ของธุรกิจมีดังนี้
- การผลิตสินค้า ธุรกิจอาจเลือกผลิตสินค้าหลายชนิด เช่น ผู้ผลิตสินค้าสำเร็จรูป
- การให้บริการ เป็นธุรกิจที่อำนวยความสะดวกให้แก่ธุรกิจและผู้บริโภค
- การจำแนกแจกจ่ายสินค้า ธุรกิจดำเนินการเกี่ยวกับการซื้อขาย
- การจัดซื้อ ธุรกิจจำเป็นต้องมีการจัดซื้อวัตถุดิบเพื่อการดำเนินการ
- การเก็บรักษาสินค้า ธุรกิจจะต้องเก็บรักษาวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปเพื่อบริการให้แก่ลูกค้า
- การจัดจำหน่าย ธุรกิจมีหน้าที่จัดแสดงสินค้าเพื่อง่ายต่อการซื้อ
- การจัดการทางการเงิน ธุรกิจมีหน้าที่จัดหาเงินทุนและบริหารเงินทุนที่มีจำนวนจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- การจัดทำบัญชี ธุรกิจมีหน้าที่จัดทำบัญชีเพื่อเสียภาษี
- การทำการโฆษณาสินค้า ธุรกิจมีหน้าที่โฆษณาและประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคได้รู้จักสินค้า และเกิดการตัดสินใจซื้อในที่สุด
ความรับผิดชอบของธุรกิจ
ธุรกิจมีฐานะเป็นหน่วยหนึ่งของสังคม จำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อบุคคล หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
- ความรับผิดชอบต่อเจ้าของกิจการ ดำเนินธุรกิจให้เกิดกำไรสูงสุด
- ความรับผิดชอบต่อลูกค้า การให้บริการลูกค้าให้ดีที่สุด
- ความรับผิดชอบที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของรัฐ
- ความรับผิดชอบต่อลูกจ้าง ในด้านสวัสดิการของลูกจ้าง
- ความรับผิดชอบต่อสังคม โดยให้สังคมได้รับประโยชน์ตามสมควร
จุดมุ่งหมายของการดำเนินธุรกิจ
จุดมุ่งหมายของการดำเนินธุรกิจ คือ ต้องการให้ได้กำไรมากที่สุด (Maximized Profit) ซึ่งต่างจากการดำเนินงานของหน่วยราชการและองค์การกุศล ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการให้บริการแก่ประชาชน โดยไม่หวังผลตอบแทน
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการประกอบธุรกิจ
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการประกอบธุรกิจสามารถแยกได้ 2 ลักษณะคือ
1. ปัจจัยภายใน หรือทรัพยากรของธุรกิจเป็นปัจจัยที่ธุรกิจ สามารถสร้างขึ้นและสามารถควบคุมได้ ได้แก่
- คน (Man) หมายถึง กำลังคน
- เงิน (Money) หมายถึง เงินทุน
- วัสดุ (Meterial) หมายถึง กระบวนการต่าง ๆ เช่น การวางแผน การจัดองค์การ ฯลฯ
2. ปัจจัยภายนอก เป็นปัจจัยที่ธุรกิจไม่สามารถจะควบคุมกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงได้ ได้แก่ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เช่น ภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ กฎหมายการเมือง คู่แข่ง เทคโนโลยี ฯลฯ
ประเภทของการประกอบธุรกิจและรูปแบบขององค์กรธุรกิจ*
ความหมายของการประกอบธุรกิจ
การประกอบธุรกิจ (Business Activities) หมายรวมถึง กระบวนการประกอบการผลิตกระบวนการประกอบการจำหน่าย กระบวนการประกอบการบริหาร เพื่อให้ได้ถึงมือผู้บริโภค
การจำแนกประเภทของการประกอบธุรกิจตามลักษณะของกิจกรรม
สามารถแบ่งได้เป็น 5 ลักษณะคือ
- ธุรกิจที่จัดหาวัตถุดิบสำหรับป้อนโรงงานหรือแหล่งผลิต เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตร
- ธุรกิจที่เปลี่ยนวัตถุดิบเป็นวัตถุกึ่งสำเร็จรูป เช่น โรงงานทอผ้า
- ธุรกิจที่ผลิตผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำมาใช้อุปโภคบริโภคได้ทันที เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป
- ธุรกิจที่เป็นคนกลาง ทำหน้าที่ช่วยให้สินค้าเปลี่ยนมือจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่ง เช่น พ่อค้าส่ง พ่อค้าปลีก
- ธุรกิจที่เป็นผู้ให้บริการ เช่น ธนาคาร การประกันภัย
รูปแบบขององค์กรธุรกิจ
รูปแบบขององค์กรธุรกิจที่ดำเนินอยู่ในวงการธุรกิจของประเทศไทย จำแนกรูปแบบได้ดังต่อไปนี้
1. กิจการเจ้าของคนเดียว
2. ห้างหุ้นส่วน แยกออกเป็น
- ห้างหุ้นส่วนสามัญ
- ห้างหุ้นส่วนจำกัด
3. บริษัทจำกัด
4. การสหกรณ์ แบ่งเป็น 6 ประเภท
- สหกรณ์การเกษตร
- สหกรณ์ประมง
- สหกรณ์นิคม
- สหกรณ์ร้านค้า
- สหกรณ์ออมทรัพย์
- สหกรณ์บริการ
5. รัฐวิสาหกิจ
สถาบันทางธุรกิจ
ความหมายของสถาบันทางธุรกิจ
สถาบันทางธุรกิจ หมายถึง องค์กรที่ดำเนินธุรกิจที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อธุรกิจด้วยกันอย่างสอดคล้อง
ประเภทของสถาบันทางธุรกิจ
1.1 สถาบันทางการเงิน ได้แก่
1.1.1 ธุรกิจธนาคาร หมายถึง ธุรกิจที่มีหน้าที่รับฝากและให้กู้ยืมเงิน แบ่งได้ 3 ประเภทคือ
ธนาคารกลางหรือธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นธนาคารที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับระบบการเงินของประเทศ บุคคลโดยทั่วไปไม่มีสิทธิเข้าไปเกี่ยวข้องหรือใช้บริการได้ ธนาคารพาณิชย์ เป็นธนาคารที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบุคคลมากที่สุด เป็นแหล่งเงินฝากหรือกู้ที่สำคัญที่สุดของประชาชน และธุรกิจในประเทศ
ธนาคารเฉพาะ มีอยู่ 3 ธนาคาร คือธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นธนาคารที่รัฐตั้งขึ้นมาเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านต่าง ๆ
1.1.2 ธุรกิจบริษัทค้าหลักทรัพย์และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ หมายถึง การประกอบธุรกิจเป็นเงินทุนและหลักทรัพย์ จะต้องทำในรูปของบริษัทจำกัด และต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กระทำโดยการออกตราสารเครดิตในสัญญาใช้เงิน เพื่อกู้ยืมเงินจากประชาชนไปใช้ในกิจการบริษัทหรือนำไปกู้ยืมต่อ แต่อยู่ในวงเงินจำกัด การดำเนินงานของธุรกิจแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
ธุรกิจเงินทุน คือ ธุรกิจการจัดหาซึ่งที่มาของเงินทุนและใช้เงินซึ่งจัดหามานั้น ไปประกอบกิจการอย่างใดอย่างหนึ่ง
ธุรกิจหลักทรัพย์ คือ การซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนตราสารแสดงสิทธิในหนี้หรือทรัพย์สิน หรือการกระทำหน้าที่เป็นตัวแทนนายหน้าแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนในตราสาร
ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ คือ ธุรกิจที่ประกอบกิจการให้กู้ยืมเงินโดยวิธีการรับจำนอง รับซื้ออสังหาริมทรัพย์ตามสัญญาขายฝาก
1.1.3 ธุรกิจประกันภัย
หมายถึง ธุรกิจที่ทำหน้าที่แบ่งเบาดภัยที่จะเกิดขึ้นกับการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งอาจจะเกิดความเสียหายกับทรัพย์สินหรือชีวิต ธุรกิจดังกล่าวจะช่วยเฉลี่ยความเสียหายที่จะเกกิดจากภัยนั้นให้เบาบางลงไป โดยผู้เอาประกันจะต้องเสียค่าเบี้ยประกันในการให้บริการ
การประกันภัยมี 2 ประเภท
การประกันชีวิต
การประกันวินาศภัยแบ่งออกเป็น
- การประกันอัคคีภัย
- การประกันภัยทางทะเล
- การประกันภัยรถยนต์
- การประกันภัยเบ็ดเตล็ด
1.2 สถาบันอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ธุรกิจการขนส่ง
การขนส่ง หมายถึง การนำสิ่งของ มนุษย์หรือสัตว์ จากที่หนึ่งไปยังจุดหมายปลายทางอีกแห่งหนึ่ง ต้องมีเครื่องอุปกรณ์ในการขนส่ง เช่น รถยนต์ รถไป หรือเครื่องบิน หรือสายท่อทางใดทางหนึ่ง
การขนส่งเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งที่เป็นรากฐานสำคัญ ในการพัฒนาประเทศในทางเศรษฐกิจ และเป็นกิจกรรมสาธารณะอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวันของชุมชนและธุรกิจ
หน้าที่และประโยชน์ของสถาบันทางธุรกิจ
2.1 ธนาคารหรือธนาคารแห่งประเทศไทย
จัดตั้งเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2485 โดยมีพระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าววิวัฒนไชยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคาร แห่งประเทศไทยเป็นพระองค์แรก เริ่มแรกมีสำนักงานที่อยู่ที่ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2488 จึงได้ย้ายมาที่บางขุนพรหม จนถึงปัจจุบัน
ธนาคารแห่งประเทศไทยมี 3 สาขา คือ
- สาขาภาคใต้ สำนักงานอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
- สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักงานอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น
- สาขาภาคเหนือ สำนักงานอยู่ที่จังหวัดลำปาง
มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
1. ออกและพิมพ์พันธบัตรซึ่งในการพิมพ์ใช้แต่ละครั้ง จะต้องมีทุนสำรองเงินตราหนุนหลังอยู่เสมอ
2. เป็นนายธนาคารของธนาคารพาณิชย์โดยทำหน้าที่
- เก็บรักษาเงินสดสำรองตามกฎหมายจากยอดเงินฝากของธนาคารพาณิชย์
- เป็นแหล่งเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์
3. ทำหน้าที่ทางด้านการเงินแทนรัฐ โดยมีหน้าที่
- เก็บรักษาเงินฝากของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ
- เป็นแหล่งเงินกู้ให้รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ
- จำหน่ายพันธบัตรรัฐบาล
- จัดการหนี้สินทั้งภายในและภายนอกแทนรัฐบาล
4. เป็นผู้ควบคุมการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์
5. การควบคุมอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราภายในประเทศ
6. เป็นสำนักหักบัญชีระหว่างธนาคารโดยธนาคาร แต่ละแห่งไม่ต้องเรียกเก็บเงินกันเอง
2.2 ธนาคารพาณิชย์
ธนาคารพาณิชย์หมายถึง การประกอบธุรกิจประเภทรับฝากเงินที่จะต้องจ่ายเงิน เมื่อทวงถามหรือสิ้นระยะเวลาอันได้กำหนดไว้ หรือใช้ประโยชน์เงินนั้นในทางหนึ่งหรือหลายทาง เช่น ให้กู้ยืมซื้อหรือขาย หรือเก็บเงินตามตั๋วแลกเงิน ซื้อหรือขายเงินปริวรรตต่างประเทศ
เริ่มมีในประเทศไทยในรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยอังกฤษ ได้มาจัดตั้งสาขาของธนาคารขึ้นในประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2431 คือธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ โดยในปัจจุบันธนาคารในประเทศไทยของคนไทยมีจำนวน 15 ธนาคาร (เป็นสาขาของต่างประเทศอีก 14 ธนาคาร) รายชื่อธนาคารในประเทศไทยของคนไทย มีดังนี้
- ธนาคารกรุงเทพ จำกัด
- ธนาคารกสิกรไทย จำกัด
- ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด
- ธนาคารทหารไทย จำกัด
- ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด
- ธนาคารศรีนคร จำกัด ลฯ
มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
1. บริการรับฝากเงิน
- เงินฝากออมทรัพย์ มีจุดประสงค์ที่จะส่งเสริมให้ประชาชนเก็บออม โดยเปิดบัญชีครั้งแรก 100 บาท
- เงินฝากแบบประจำ เป็นแบบของการเก็บออมของผู้มีเงินได้ค่อนข้างประจำ เปิดบัญชีครั้งแรกไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท
- เงินฝากกระแสรายวัน ส่วนมากจะทำแต่พ่อค้าหรือนักธุรกิจ เปิดบัญชีครั้งแรกไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท การโอนบัญชีต้องใช้เช็คและต้องใช้ไม่ต่ำกว่า 10 บาท
- เงินฝากประเภทอื่น ๆ เป็นเงินฝากที่ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของธนาคารหรือกลยุทธ์ในด้าน การส่งเสริมด้านการตลาดของธนาคาร
2. บริการเงินกู้
- การเบิกเงินเกินบัญชี เป็นการกู้ที่ได้รับความนิยมที่สุด
- การใช้เงินกู้ระยะสั้น – ระยะยาว ต้องตกลงกับธนาคารโดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันการชำระเงิน อาจทำได้โดยการผ่อนชำระเป็นงวด ๆ ตั้งแต่ 1 – 25 ปี
- การรับซื้อลดตั๋ว เมื่อผู้ส่งตั๋วมีความประสงค์จะใช้เงินก่อนตั๋วนั้นถึงกำหนดเวลา
- การรับรองตั๋ว หมายถึง การรับรองจากธนาคารว่าผู้ทรงตั๋วจะได้รับเงินแน่นอน
- การอาวัล หมายถึง การที่ธนาคารรับประกันการจ่ายเงินแทนเจ้าของตั๋วทั้งหมดหรือบางส่วน
3. บริการด้านการต่างประเทศ
- การให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตลาดต่างประเทศ
- การเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต (Letter of Credit) การส่งสินค้า L/C จะช่วยให้เกิดความมั่นใจทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ที่นิยมใช้กันแพร่หลายมี 2 ชนิดคือ
- เลตเตอร์ออฟเครดิตประเภทเพิกถอนได้ ผู้เกี่ยวข้องสามารถยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข ได้ทุกเวลา แต่ต้องก่อนที่จะมีการรับซื้อเอกสารนั้น
- เลตเตอร์ออฟเครดิตประเภทเพิกถอนไม่ได้ธนาคารผู้เปิด L/C มีพันธะผูกพันแน่นอน ตาม L/C ที่เปิดจะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขไม่ได้นอกจากจะได้รับการยินยอม
4. บริการอื่น ๆ
- การใช้บริการบัตรเครดิต
- การใช้บริการเงินด่วนทางเครื่องเอทีเอ็ม
- การให้บริการคุ้มครองอุบัติเหตุ
- การให้บริการเช่าตู้นิรภัย
- การบริการชำระเงินค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ
- การโอนเงินด้วยระบบ ON-LINE
- การเตรียมเงินไว้จ่ายเงินเดือน
- การเรียกเก็บเงิน
- การบริการเช็คของขวัญ
- การเป็นผู้จัดการมรดกให้การแนะนำด้านการลงทุน
- การหาผลประโยชน์ให้เจ้าของเงินทุน
- การให้ข้อมูลทางเครดิต
- รับชำระภาษีรถยนต์ประจำปี
2.3 ธนาคารออมสิน
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงสนพระทัยวิธีการของทางออมสินเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ ทรงเริ่มนำเอากิจการด้านธนาคารออมสินมาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ 2450 โดยทดลองรับฝากเงินขึ้นเรียกว่า “แบงค์ลีฟอเทีย” และประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2456 เพื่อจัดตั้งคลังออมสิน
มีหน้าที่ต่อไปนี้
- ทำหน้าที่ระดมเงินออม ทำหน้าที่ในการส่งเสริมการออมทรัพย์ของประชาชน ในการรับฝากเงินและบริการประเภทต่าง ๆ
- แหล่งเงินกู้ภายในประเทศของรัฐบาล
- การส่งเสริมการออมทรัพย์โดยจัดตั้งหน่วยงานทำหน้าที่ใน การดำเนินงานส่งเสริมการออมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง เรียกว่า “กองการส่งเสริมการออมทรัพย์”
- การมีส่วนส่งเสริมตลาดทุนและตลาดเงิน ธนาคารออมสินได้ทำหน้าที่จำหน่าย พันธบัตรรัฐบาล เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการซื้อหลักทรัพย์ของรัฐบาล
2.4 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
เมื่อ พ.ศ. 2490 รัฐบาลได้จัดตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรขึ้น เพื่อเป็นแหล่งกลางทางการเงินของ กระบวนนการสหกรณ์เพื่อการระดมทุนให้สหกรณ์นำไปใช้ ธนาคารเพื่อการสหกรณ์ได้นำไปให้เกษตรกรกู้ ประมาณร้อยละ 5 ของเกษตรกรทั่วประเทศ โดยจัดตั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขึ้นแทน ธ.ก.ส. เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นตามนโยบายพิเศษของรัฐบาลต่อเนื่อง มาจากธนาคารเพื่อการสหกรณ์เดิม ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2509 เป็นต้นมา
มีหน้าที่ต่อไปนี้
- ให้สินเชื่อการเกษตรแก่สถาบันการเกษตรและเกษตรกร
- ส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรและสถาบันเกษตร ประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องจากเกษตรกร
- ส่งเสริมสนับสนุนการตั้งสหกรณ์การตลาดในหมู่เกษตรกร
- ส่งเสริมการออมเงินของเกษตรกรและชาวชนบท
- สร้างสรรค์โอกาสในการช่วยเหลือตนเองในหมู่ของเกษตรกร
2.5 ธนาคารอาคารสงเคราะห์
ธนาคารอาคารสงเคราะห์สังกัดกระทรวงการคลัง ก่อตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. 2496 ในปี 2515 รัฐบาลสมัยจอมพลถนอม กิติขจร ได้ตั้งหน่วยงานเคหะขึ้นและได้โอนกิจการเกี่ยวกับการเช่าซื้อที่ดิน การให้เช่าซื้อที่ดินหรืออาคารของธนาคาร อาคารสงเคราะห์ไปขึ้นอยู่กับการเคหะแห่งชาติ
มีหน้าที่ต่อไปนี้
- รับฝากเงิน 5 ประเภท ได้แก่เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ เงินฝากประจำ และเงินฝากออมทรัพย์สินเคหะ
- ให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อที่ดิน และอาคารเป็นของตนเอง
- รับจำนำหรือจำนองทรัพย์สินเพื่อเป็นการประกันเงินกู้
2.6 บริษัทค้าหลักทรัพย์และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์
มีหน้าที่และประโยชน์ คือ
- กระจายความเสี่ยงในการลงทุน
- การลงทุนผ่านบริษัทย่อมดีกว่า ลดภาระกับผู้ลงทุนรายย่อย
- การลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ช่วยให้มีการออมเงินในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจส่วนรวม
- การกระจายรายได้เป็นธรรมขึ้น
2.7 ธุรกิจประกันภัย
ปัจจุบันธุรกิจประกันชีวิต มี 12 บริษัท เป็นบริษัทประกันชีวิตของไทย 11 บริษัท และสาขาของบริษัทต่างประเทศอีก 1 บริษัท ดังนี้
- บริษัท อินเตอร์ไลฟ์ประกันภัย จำกัด
- บริษัท สยามประกันชีวิต จำกัด
- บริษัท ไทยประสิทธิประกันภัย จำกัด
- บริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำกัด
- บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด
- บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด
- บริษัท สมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด
- บริษัท ประกันชีวิตศรีอยุธยา จำกัด
- บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด
- บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันชีวิต จำกัด
- บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด
- บริษัท เอ.ไอ.เอ จำกัด
คำศัพท์ที่สำคัญที่ควรเข้าใจในธุรกิจประกันภัย
- ผู้เอาประกัน (Insured or Assured) หมายถึง ผู้ที่แสดงความจำนงจะทำสัญญาประกันภัยกับผู้รับประกันและยินดีจ่ายเบี้ยประกัน
- ผู้รับประกัน หมายถึง บริษัทผู้รับประกันภัยที่ยินยอมรับเบี้ยประกันจากผู้เอาประกัน และยินยอมใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยที่รัฐคุ้มครองนั้น
- ผู้รับประโยชน์ หมายถึง บุคคลที่จะเป็นผู้รับประโยชน์จากค่าสินไหมทดแทนตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ซึ่งผู้รับประโยชน์อาจเป็นคน ๆ เดียวกับผู้เอาประกันก็ได้
- กรมธรรม์ประกันภัย หมายถึง สัญญาที่ระบุเงื่อนไขต่าง ๆ ระหว่างผู้รับประกันและผู้เอาประกัน
หน้าที่และประโยชน์ของธุรกิจประกันภัยมีดังนี้
- ทำให้เกิดหลักประกันที่มั่นคงในการดำเนินธุรกิจ
- ช่วยให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนหรือส่วนรวม
- ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
- ช่วยสร้างหรือเพิ่มเครดิตในการประกอบธุรกิจ
- ทำให้เกิดความมั่นคงในครอบครัว
2.8 ธุรกิจการขนส่ง หลักในการพิจารณาเลือกเส้นทางและประเภทการขนส่งคือ
- จุดหมายปลายทาง
- ชนิดของสิ่งของที่ต้องการขนส่ง
- ขนาดและน้ำหนักของสิ่งที่ต้องการขนส่ง
- ความเร่งด่วนในการใช้ของสิ่งนั้น
- ค่าใช้จ่ายในการขนส่ง
ปัจจุบันมีการจัดกระบวนการขนส่งตามประเภท และความเหมาะสมของสิ่งของที่จะทำการขนส่ง 6 ทาง ซึ่งมีหน้าที่และประโยชน์ ดังนี้
- การขนส่งทางเรือ เป็นการขนส่งที่เก่าแก่ที่สุดเหมาะกับการขนส่งสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก และทนทานต่อการเน่าเสีย
- การขนส่งทางรถยนต์ เหมาะกับการขนส่งสิ่งของที่มีน้ำหนักมากใช้เวลาไม่มากนัก ต้องการความรวดเร็วในการขนส่ง เป็นการขนส่งถึงหน้าประตูบ้าน
- การขนส่งทางรถไฟ เหมาะกับการขนส่งสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก ใช้เวลาในการขนส่งมากกว่ารถยนต์ แต่มีความปลอดภัยมากกว่ารถยนต์
- การขนส่งทางอากาศ เป็นการขนส่งที่เร็วที่สุด เหมาะกับการส่งสินค้าที่ต้องการความเร่งด่วน เน่าเสียง่าย
- การขนส่งด้วยระบบคอนเทนเนอร์ เป็นการขนส่งโดยบรรจุสิ่งของภายในตู้คอนเทนเนอร์ ช่วยให้ประหยัดเวลาในการยกขน ให้ความปลอดภัยและความรวดเร็วกับสิ่งของที่ทำการขนส่ง
คุณลักษณะของนักธุรกิจ
บุคลิกภาพของนักธุรกิจ
หมายถึงลักษณะท่าทาง หน้าตา การแต่งกาย และการวางตัวซึ่งนักธุรกิจควรจะทำให้เกิดความศรัทธาและน่าเชื่อถือ ในขณะเดียวกันควรจะมีความเฉลียวฉลาดและไหวพริบ ในการดำเนินธุรกิจซึ่งบุคลิกภาพของนักธุรกิจที่ควรมีได้แก่
- การแต่งกายที่สุภาพ สะอาดตา
- มีอัธยาศัย ยิ้มแย้ม แจ่มใส
- มีความเชื่อมั่นในตนเอง
- เป็นผู้มีไหวพริบดี
- เป็นผู้ฟังและผู้พูดที่ดี
- เป็นผู้มองการณ์ไกล
- มีความอดทน
- กล้าที่จะประสบกับการขาดทุน ฯลฯ
จรรยา หมายถึง หลักความประพฤติที่ควรประพฤติ เช่น ความเมตตากรุณา การต้อนรับยินดี รู้จักเสียสละ เป็นต้น
มรรยาท หมายถึง ขนบธรรมเนียมประเพณีที่สามารถถือเป็นข้อปฏิบัติที่ดีงาม
จรรยาบรรณของนักธุรกิจ
จรรยาบรรณ (Ethics) ไม่ใช่กฎหมายแต่เป็นข้อที่ควรปฏิบัติสำหรับอาชีพใดอาชีพหนึ่งเช่นแพทย์ ไม่ควรเปิดเผยความลับของคนไข้ เพราะผิดจรรยาแพทย์ เป็นต้น สำหรับการประกอบธุรกิจ ก็เช่นกัน ผู้ประกอบธุรกิจควรที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมที่เขาอาศัยอยู่ เช่น
- การให้สิ่งที่ดีต่อสังคม การผลิตสิ่งของที่ดีมีคุณภาพให้กับสังคม การไม่ปลอมปนสินค้า ความพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อผลที่เกิดจากการใช้สินค้าที่ผลิตออกไป การเลือกใช้วัตถุดิบที่ไม่มีอันตรายในการผลิตสินค้า
- ปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น กฎหมายแรงงาน ลดการเอารัดเอาเปรียบคนงาน ควรจ่ายค่าจ้างการทำงานและสวัสดิการในด้านการบริโภค การปฏิบัติตามกฎหมาย ว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเคร่งครัด
- สร้างงานที่มีการจ้างแรงงานสูง เช่น งานก่อสร้าง งานการเกษตร งานให้บริการต่าง ๆ งานเหล่านี้ในแง่ธุรกิจอาจให้ผลตอบแทนไม่สูงนัก แต่เป็นการช่วยสังคมไม่ให้มีการว่างงาน
- การกำหนดราคาสินค้า ไม่ควรกำหนดสูงไปเพื่อหวังกำไร แต่ควรพิจารณาถึงความเหมาะสม การไม่ฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าในขณะที่เกิดเภทภัยต่าง ๆ
- ป้องกันสภาพแวดล้อมเป็นพิษ เป็นปัญหาที่สำคัญมากที่สุด ในทางธุรกิจอุตสาหกรรมก็คือสิ่งแวดล้อมเป็นพิษหรือเกิดมลภาวะอากาศเป็นพิษ น้ำเสีย ของเสียที่ทับถมบนพื้นดิน สภาพแวดล้อมที่ดี ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ โดยจัดระบบการจำกัดและป้องกันให้เหมาะสม
- ให้ความสนับสนุนการศึกษา ธุรกิจจะต้องให้การช่วยเหลือและสนับสนุนการศึกษา ทั้งสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชน อาจทำได้โดยการให้ทุนการศึกษา กู้ยืมเงิน การฝึกงานดูงานของนักศึกษา เชิญผู้เชี่ยวชาญไปบรรยายให้นักศึกษาฟัง
- ให้บริการด้านสุขภาพอนามัยและนันทนาการ ควรช่วยเหลือกิจการต่าง ๆ และให้บริการด้านต่าง ๆ ของสังคม เช่น ลูกเสือชาวบ้าน การกุศล กิจกรรมต่าง ๆ
ความรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งต้องปฏิบัติดังกล่าวข้างต้นแล้ว ผู้ประกอบการทางธุรกิจ จะต้องมีคุณธรรม มีความยุติธรรม ผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ซื่อสัตย์สุจริต ไม่เอารัดเอาเปรียบสังคมอันเป็นส่วนรวมอีกด้วย
อุดมการณ์ของนักธุรกิจ
อุดมการณ์ซึ่งนักธุรกิจพึงมี ได้แก่
- หมั่นประกอบการดี และประพฤติเป็นคนดี
- ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยปฏิบัติให้สอดคล้องกับประโยชน์ของคนทั่วไป
- ต้องมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่
- ดำรงไว้ซึ่งชื่อเสียงและยึดถือปฏิบัติข้อบังคับของสมาคม การจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย
- ละเว้นการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว แต่ต้องปฏิบัติให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกิจการ โดยคำนึงข้อปฏิบัติของการจัดการที่ดี
- ละเว้นการปฏิบัติที่มีอคติต่อบุคคลอื่น ต้องตระหนักถึงศสักดิ์ศรีความเสมอภาคของกลุ่มและบุคคล
Table of Contents
- ความหมายและความสำคัญของธุรกิจ
- ความสำคัญของธุรกิจ พอสรุปได้ดังนี้
- หน้าที่และความรับผิดชอบของธุรกิจ
- ความรับผิดชอบของธุรกิจ
- จุดมุ่งหมายของการดำเนินธุรกิจ
- ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการประกอบธุรกิจ
- ประเภทของการประกอบธุรกิจและรูปแบบขององค์กรธุรกิจ*
- สถาบันทางธุรกิจ
- หน้าที่และประโยชน์ของสถาบันทางธุรกิจ
- 2.1 ธนาคารหรือธนาคารแห่งประเทศไทย
- ธนาคารแห่งประเทศไทยมี 3 สาขา คือ
- 2.2 ธนาคารพาณิชย์
- 2.3 ธนาคารออมสิน
- 2.4 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
- 2.5 ธนาคารอาคารสงเคราะห์
- 2.6 บริษัทค้าหลักทรัพย์และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์
- 2.7 ธุรกิจประกันภัย
- 2.8 ธุรกิจการขนส่ง หลักในการพิจารณาเลือกเส้นทางและประเภทการขนส่งคือ
- คุณลักษณะของนักธุรกิจ
ที่มา: อักษรเจริญทัศน์ อจท.