ผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการธุรกิจของตนเองอยู่แล้ว หากถูกถามคำถามที่ผมยกขึ้นมาเป็นหัวข้อของบทความนี้หลาย ๆ ท่านอาจไม่สามารถเรียบเรียงหาคำตอบ ที่สั้น ๆ รัดกุมและครอบคลุม ขั้นตอนต่าง ๆ ที่ตนเองเคยมีประสบการณ์ผ่านมา เพื่อที่จะให้เป็นข้อมูล หรือแม้กระทั่งเป็นข้อคิดให้แก่คนอื่น ๆ ที่มีความต้องการ อยาก จะมีธุรกิจเป็นของตนเองให้เข้าใจได้อย่างง่ายดายนัก
เปรียบเสมือนผู้ที่ขับรถเป็นแล้วหลายต่อหลายท่านไม่สามารถอธิบายได้ง่าย ๆ ว่าควรจะต้องลำดับอะไรก่อนหลัง เพื่อที่จะทำให้มือใหม่สามารถ หัดขับได้โดยใช้เวลาสั้นที่สุด
….เปิดสวิตช์ สตาร์ทเครื่อง เหยียบคลัช เข้าเกียร์ เหยียบคันเร่ง ผ่อนคลัช บังคับพวงมาลัย ฯลฯ….
แต่เมื่อหัดทำได้แล้ว ทุกอย่างมันพลอยดูง่ายดาย ถูกลำดับขั้นตอนไปหมด ไม่เก้ ๆ กัง ๆ เหมือนมือใหม่หัดขับที่มักจะทำผิดพลาดขั้นตอน ทำให้รถต้องสะดุดระหว่างทาง อันอาจเป็นสาเหตุให้ท่านเสียทั้งความคิดเสียทั้งเวลาเสียทั้งเงิน
การเริ่มต้นทำธุรกิจที่เป็นของตนเองก็มักจะเกิดปรากฏการณ์ที่ใกล้เคียงกัน
ดังนั้น “มือใหม่หัดขับ” ทั้งหลายผู้ซึ่งมีความฝันอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองจะลองทบทวนขั้นตอนที่ผมจะนำเสนอต่อไปนี้ก็อาจทำให้หนทางสู่การเป็น “เถ้าแก่ใหม่” ของท่านราบรื่นมากขึ้นไม่เกิดอาการสะดุดระหว่างทาง อันอาจเป็นสาเหตุให้ท่านเสียทั้งความคิดเสียทั้งเวลา เสียทั้งเงิน แถมยังเจ็บใจอีกต่างหาก หากธุรกิจที่ปั้นมากับมือไม่สามารถดำเนินต่อไปได้
เมื่อท่านตัดสินใจเด็ดขาดแล้วว่าจะกระโดดเข้าสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจของตนเอง กฎเกณฑ์ที่สำคัญที่สุดมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ก็คือ ท่านจะต้องเริ่มวางแผน แนวคิดทางธุรกิจที่ท่านอยากทำในระดับที่มีความละเอียดรอบคอบมากขึ้น มากกว่าการเป็นเพียงความคิดที่มีอยู่ในใจ
เริ่มเรียบเรียงความคิดของท่านเป็นขั้น ๆ ดังนี้ ครับ
ขั้นที่หนึ่ง คิดถึงความเหมาะสมของตัวสินค้า หรือบริการที่ท่านจะนำเสนอต่อตลาด เบื้องต้นที่สุด จะต้องดูว่าสินค้า หรือบริการนั้นเป็นธุรกิจที่ถูกต้อง ตามกฎหมายหรือไม่ มีคุณภาพใช้งานได้ตามที่คิดไว้จริงหรือไม่ และไม่สามารถต่อสู้แข่งขันกับผู้เล่นเดิมในตลาดได้หรือไม่
หากเป็นสินค้า หรือบริการที่มีอยู่ในตลาดก่อนแล้ว ก็ต้องดูต่อไปอีกว่า คู่แข่งมีจุดแข็ง จุดอ่อนอย่างไรเมื่อเราตัดสินใจนำเสนอสินค้า หรือบริการของเราสู้ตลาดแล้วคู่แข็งเหล่านั้น จะมีการโต้ตอบกลับอย่างไรหรือไม่ หากมีการโต้ตอบเราจะทำอย่างไร หรือเราจะมีสายป่านในการต่อสู้ยาวมากน้อยแค่ไหน
ราคาขายจะตั้งอย่างไร เปรียบเทียบกับคู่แข่งแล้ว ระดับราคาของเราจะเป็นอย่างไร
ทำเลที่ตั้งจะอยู่ที่ไหนจึงจะเหมาะสมมากที่สุด รวมไปถึงวิธีการที่จะนำเสนอสินค้า หรือบริการไปสู่ผู้บริโภคจะทำอย่างไร เช่น ขายเอง ขายส่งต่อให้กับตัวแทนหรือเอเย่นต์ หรือ จะขายผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
ขั้นที่สอง คิดถึงเรื่องการตลาด และการทำตลาดให้ละเอียด กลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะเป็นใคร มีจำนวนมากน้อยเพียงใด ลูกค้าจะตอบสนองสินค้า หรือบริการของเราอย่างไรในเรื่องราคา และปริมาณที่จะซื้อ
หากเป็นสินค้าหรือบริการที่จะนำเสนอใหม่ ลูกค้าจะทราบได้อย่างไรว่าเราจะนำเสนอสินค้าหรือบริการนั้น ๆ แล้ว ดังนั้น จะต้องเตรียมตัวล่วงหน้าว่า เราจะใช้งบประมาณในการโฆษณาประชาสัมพันธ์เท่าไร จะใช้วิธีการโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างไร ผ่านสื่อใด เป็นต้น
สามารถที่หาลูกค้า หรือหาออร์เดอร์ได้ล่วงหน้าหรือไม่ ถ้าหาได้จะมีจำนวนเท่าไร เพราะการได้ออร์เดอร์ล่วงหน้าจะช่วยให้วางแผนการเริ่มผลิตได้เหมาะสมขึ้น และจะช่วยในเรื่องของการเตรียมเงินทุนหมุนเวียนได้อีกด้วย
ขั้นที่สาม คิดถึงเรื่องการผลิต หรือขั้นตอนการให้บริการ ว่าจะต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ วัตถุดิบ อะไรบ้าง สิ่งเหล่านี้จะได้มาอย่างไร จะทำขึ้นเอง หรือจะจ้างผู้อื่น ทำให้สนนราคาจะเป็นอย่างไร จะซื้อหามาได้จากที่ไหน จะต้องสั่งล่วงหน้าหรือไม่นานเท่าไร
ในระหว่างการผลิต หรือการให้บริการจะทำการควบคุมคุณภาพอย่างไร ทั้งในแง่ของระดับคุณภาพ และความสม่ำเสมอที่ทำให้ลูกค้าเมื่อมาใช้สินค้า หรือบริการซ้ำจะได้รับคุณภาพที่เหมือนเดิมเสมอ คิดต่อไปถึงกรณีหากลูกค้าไม่พอใจในสินค้า หรือบริการที่จะได้ จะมีวิธีการรองรับลูกค้าอย่างไร
หากมีของเสียหายในระหว่างการผลิตจะทำอย่างไร
และยิ่งอยู่ภายใต้สภาวะที่ทุกคนกำลังสนใจเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมของโลก คิดให้รอบคอบว่าการผลิต หรือบริการจะทำให้เกิดผลกระทบต่อ มลภาวะ อย่างไรหรือไม่ ของเสียหรือขยะที่เกิดขึ้นจะทำอย่างไร จะต้องมีค่าใช้จ่ายพิเศษอะไรอีกหรือไม่ หรืออาจจะสร้างภาระต่อไปภายหน้าหรือไม่
หากต้องใช้ช่างหรือผู้ชำนาญพิเศษ หากคนเหล่านั้นลาออกไป จะหาคนมาทดแทนได้อย่างไรโดยไม่ให้ธุรกิจกระทบกระเทือนรูปแบบการทำธุรกิจจะต้องทำให้ถูกกฎหมายอย่างไร ต้องมีการจดทะเบียน หรือได้รับอนุญาตพิเศษจากหน่วยงานใดหรือไม่ หากไม่ทำจะมีความผิดมากน้อยอย่างไร
ขั้นตอนสุดท้าย คิดถึงเรื่องเกี่ยวกับแหล่งทุน
ขั้นตอนสุดท้าย คิดถึงเรื่องเกี่ยวกับแหล่งทุน ว่าจะต้องใช้เงินสนับสนุนจากแหล่งใดได้บ้างจำนวนเท่าไรเป็นทุนส่วนตัวเท่าไรหากต้องกู้เงินมาลงทุน จะต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราเท่าไร และจะต้องคืนเงินต้นอย่างไร ต้องใช้เวลานานเท่าไรจึงจะทำให้ธุรกิจคืนทุน และความเสี่ยงที่จะ ทำให้ธุรกิจประสบปัญหาจะมีอะไรเกิดขึ้นได้บ้างหากเกิดขึ้น จะมีวิธีแก้ไขหรือป้องกันไม่ให้เกิดได้อย่างไรบ้าง
จะเห็นได้ว่า การสร้างธุรกิจใหม่ที่เป็นของตนเองจะมีส่วนประกอบที่เจ้าของธุรกิจประสบปัญหาจะมีอะไรเกิดขึ้นได้บ้างหากเกิดขึ้น จะมีวิธีแก้ไขหรือ ป้องกันไม่ให้เกิดได้อย่างไรบ้างเพราะการใช้เวลาส่วนใหญ่ไปเพื่อสร้างธุรกิจให้เติบโตขยายตัวต่อไป ก็เป็นงานที่หนักอยู่มากแล้ว เจ้าของธุรกิจใหม่ไม่จำเป็นที่จะต้องเสียเวลาไปอีกกับ การที่ต้องไปสะสางปัญหาที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากการเตรียมตัวไม่พร้อม หรือไม่ได้คิดล่วงหน้าให้รอบคอบ ก่อนที่จะลงมือเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเองจริง ๆ
หัวข้อบทความ
บทความโดย : ดร.เรวัต ตันตยานนท์ ที่มา : หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ