การใช้ประโยชน์จากแผนธุรกิจ

จากเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับแผนธุรกิจกับ SMEs ในหลายๆตอนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ที่มาของแผนธุรกิจ เหตุผลในการจัดทำ แผนธุรกิจ หน้าที่ของแผนธุรกิจ แนวคิดของแผนธุรกิจที่ดี ประเภทและประเด็นสำคัญต่างๆของแผนธุรกิจประเภทต่างๆ ในตอนนี้จะเป็นการกล่าวถึง ลักษณะของการใช้ประโยชน์จากแผนธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งแผนธุรกิจที่ถูกจัดทำขึ้นโดย ผู้ประกอบการนั้น สามารถสรุปถึงการนำไปใช้ประโยชน์ได้ 3 ลักษณะกล่าวคือ

ใช้เป็นเครื่องมือ (Tools)

ใช้เป็นเครื่องมือ (Tools) กล่าวคือแผนธุรกิจถือเป็นเครื่องมือสำหรับ ผู้ประกอบการในการวางแผนการดำเนินธุรกิจ การพยากรณ์ การวิเคราะห์ การดำเนินการ การทบทวน การติดตาม และการประเมินผลในการดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้เป็น เครื่องมือ เพื่อการขอรับการสนับสนุนทางการเงิน เช่น การขอวงเงินสินเชื่อ การขอเข้าร่วมกองทุนร่วมลงทุน การขอรับเงินสนับสนุนช่วยเหลือ ต่างๆ เป็นต้น เนื่องจากในปัจจุบันแผนธุรกิจถือเป็นเอกสารบังคับขั้นพื้นฐาน ที่ธนาคารหรือสถาบันการเงิน รวมถึงหน่วยงานสนับสนุน ผู้ประกอบการทั้ง ภาครัฐและเอกชน ขอให้ผู้ประกอบการจัดทำขึ้นประกอบการพิจารณาในการให้การสนับสนุน โดยสำหรับผู้ประกอบการใหม่ หรือผู้ต้องการเริ่มต้นธุรกิจ แผนธุรกิจจะถือเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถคิดวางแผน ตรวจสอบ และศึกษา เกี่ยวกับ รายละเอียดต่างๆ ในการทำธุรกิจ ผ่านหัวข้อโครงสร้างต่างๆ (Business Plan Outlines or Business Plan Topics) ที่ระบุไว้ใน แผนธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ตลาดและอุตสาหกรรม ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการมีความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพตลาด และผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับ ธุรกิจจากปัจจัยมหภาคนั้นๆ สามารถรู้ถึงสภาวะการแข่งขัน คู่แข่งขัน การวิเคราะห์ถึงจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค ที่ธุรกิจเป็นอยู่ เพื่อกำหนด แผนการดำเนินการต่างๆของธุรกิจ ภายใต้ข้อจำกัดของธุรกิจที่เป็นอยู่ เช่น เงินทุน ผู้ถือหุ้น รูปแบบธุรกิจ ที่จะดำเนินการ จัดตั้ง นโยบายในการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น ผ่านรายละเอียดตามโครงสร้างของแผนบริหารจัดการ ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการ มีการวางแผนในด้าน การบริหารจัดการองค์กร การวางแผนงานด้านบุคลากร เป็นต้น ผ่านแผนการตลาด ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการ มีการวางแผน ด้านการตลาด การกำหนดลูกค้าเป้าหมาย จำนวนลูกค้า การเปลี่ยนแปลงต่างๆทางการตลาด ประมาณการเกี่ยวกับ รายได้หรือ ยอดขายของธุรกิจ การกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ กลยุทธ์ด้านราคา กลยุทธ์ด้านช่องทาง จัดจำหน่าย และกลยุทธ์ด้านส่งเสริมการตลาด เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าหรือ ผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น ผ่านแผนการผลิต หรือแผนบริการ ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการกำหนดหรือรู้รายละเอียด เกี่ยวกับการวางแผนการผลิต หรือแผนการให้บริการ ของธุรกิจ มาตรฐานหรือเป้าหมายต่างๆในการผลิตหรือการให้บริการ ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกิดขึ้นจากกระบวนในการผลิตหรือการให้บริการ เป็นต้น และผ่านแผนการเงิน ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการกำหนดเกี่ยวกับรายได้ ต้นทุน ค่าใช้จ่าย เพื่อประมาณการเกี่ยวกับผลกำไร หรือแหล่งที่มา หรือใช้ไปของเงินทุนใน การดำเนินกิจการ มูลค่าของธุรกิจ เป็นต้น โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึง สภาวะการแข่งขัน ที่รุนแรงในตลาดและอุตสาหกรรม ทำให้การจัดทำแผนธุรกิจในปัจจุบัน มักมีการกำหนดให้มีการจัดทำเกี่ยวกับ แผนประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment Plan) เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถประเมินถึงปัจจัย หรือความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับ ธุรกิจ และสามารถ คาดการณ์หรือทราบถึง ผลกระทบต่างๆ รวมถึงแนวทางในการแก้ไขในความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจ สามารถดำเนินการ ได้อย่างตลอดรอดฝั่ง แม้ว่าธุรกิจจะประสบปัญหาขึ้นก็ตาม จากรายละเอียดดังกล่าวจะเห็นว่า ในข้อเท็จจริงแล้วแผนธุรกิจ (Business Plan) ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนธุรกิจ (Plan Business) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะละเลยประเด็นดังกล่าว แต่ไปให้ความสนใจในประเด็นของการใช้แผนธุรกิจ เป็นเครื่องมือในการขอรับ การสนับทางการเงินมากกว่าเป็น เครื่องมือในการวางแผน ทำให้บางครั้ง มักจะละเลยในประเด็นสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการ ของการวางแผนธุรกิจอย่างถูกต้อง จึงไปเน้นความสำคัญในแง่ของการจัดทำเอกสารแผนธุรกิจ มากกว่ากระบวนการในการวางแผนธุรกิจ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดผลในทางลบมากกว่าประโยชน์ที่ได้ในกรณีที่ธุรกิจประสบปัญหาขึ้น และไม่ได้มีการวางแผนไว้ก่อนล่วงหน้า โดยเฉพาะ ถ้าผู้ประกอบการไม่ได้มีการใช้สิ่งที่ระบุไว้แผนธุรกิจในการดำเนินการของธุรกิจจริง

ใช้เป็นแผนที่ (Map)

ใช้เป็นแผนที่ (Map) กล่าวคือแผนธุรกิจเป็นเอกสารหรือลายลักษณ์อักษรซึ่งผ่านกระบวนการในการวางแผนในการดำเนินการของธุรกิจ ซึ่งจากกระบวนการในการวางแผนดังกล่าวนั้น ถ้าได้ผ่านกระบวนการในการคิดอย่างถูกต้อง รอบคอบ และรัดกุม และธุรกิจปฏิบัติ หรือ ดำเนินการ ตามสิ่งที่ได้วางแผนไว้ ธุรกิจย่อมสามารถที่จะประสบความสำเร็จและเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นการใช้แผนธุรกิจ เป็นแผนที่ นำทางในการดำเนินธุรกิจว่าจะดำเนินการอะไร เมื่อใด โดยใคร ในเวลาใด ย่อมทำให้ธุรกิจไม่หลงทางในการดำเนินการ หรือประสบปัญหา จากการดำเนินการ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เท่าที่ปรากฏเกี่ยวกับปัญหาของผู้ประกอบการก็คือ แม้ว่าจะได้มีการจัดทำแผนธุรกิจ โดยมีการวางแผน มาเป็นอย่างดี แต่ทว่าเมื่อดำเนินธุรกิจไปแล้ว ธุรกิจกลับไม่นำสิ่งที่วางแผนไว้ตั้งแต่ต้นหรือดำเนินการในสิ่งที่ระบุไว้ในแผนธุรกิจแต่อย่างใด ทำให้ธุรกิจประสบปัญหาหรือหลงทางในการดำเนินธุรกิจ และเมื่อธุรกิจหลงทางหรือประสบปัญหาขึ้นมักยากต่อการแก้ไข หรือเสียค่าใช้จ่าย ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นมูลค่าสูง โดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารจัดการด้านการเงิน เช่น การลงทุนของธุรกิจ การบริหารเงินสด การควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่าย เป็นต้น หรือกิจกรรมดำเนินการต่างๆของธุรกิจ ดังนั้นผู้ประกอบการควรตระหนักอยู่เสมอว่า แผนธุรกิจจะมีค่า ต่อธุรกิจหรือมีประโยชน์อย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อธุรกิจนั้น นำแผนธุรกิจที่ได้จัดทำขึ้นมาดำเนินปฏิบัติตามสิ่งที่วางแผนไว้ หรือใช้แผนธุรกิจนั้น เป็นแผนที่นำทางของธุรกิจนั่นเอง

ใช้เป็นข้อตกลง (Agreement)

ใช้เป็นข้อตกลง (Agreement) กล่าวคือแผนธุรกิจสามารถใช้เป็นข้อตกลงระหว่างคู่สัญญา หรือผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในหรือภายนอกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นระหว่างธุรกิจกับเจ้าหนี้ ธุรกิจกับผู้ถือหุ้น ธุรกิจกับคู่ค้า ระหว่างผู้บริหารกับผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าผู้ถือหุ้นนั้นไม่ได้ มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการธุรกิจโดยตรงหรือเป็นบุคคลภายนอก เนื่องจากแผนธุรกิจจะระบุเกี่ยวกับกลยุทธ์ต่างๆในการดำเนินการของธุรกิจ ขั้นตอน ระยะเวลาการดำเนินการ ค่าใช้จ่าย งบประมาณ รวมถึงผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากผลการดำเนินการนั้นๆ ซึ่งถ้าแผนธุรกิจได้ มีการระบุถึงสิ่งที่จะดำเนินการต่างๆนั้นอย่างชัดเจน ก็จะเป็นเหมือนกับข้อตกลงในการปฏิบัติของธุรกิจกับผู้เกี่ยวข้อง ว่าธุรกิจจะดำเนินการ อะไรบ้าง มีการตัดสินใจใดๆที่ส่งผลผูกพัน หรือมีผลกระทบกับธุรกิจหรือผู้ถือหุ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยลด ความขัดแย้งระหว่าง ผู้เกี่ยวข้องได้ เป็นอย่างดี เนื่องจากแผนธุรกิจได้ระบุถึงสิ่งต่างๆที่จะดำเนินการซึ่งได้มีการวางแผนไว้แล้ว ซึ่งถ้าผู้ถือหุ้นหรือผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบล่วงหน้า ย่อมจะทำให้ผู้ถือหุ้นหรือผู้เกี่ยวข้องสามารถคาดการณ์ถึงผลลัพธ์ หรืออนาคตของธุรกิจได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็น ยอดขาย รายได้ จำนวนลูกค้า ผลกำไร ต้นทุน ค่าใช้จ่ายต่างๆ ภาระหนี้สิน มูลค่าของธุรกิจ เป็นต้น แผนธุรกิจจึงสามารถถือว่าเป็นข้อตกลงระหว่างกัน สามารถใช้เพื่อประเมินประสิทธิภาพในการบริหารจัดการธุรกิจของทีมบริหารและลดความขัดแย้งได้

Source : รัชกฤช คล่องพยาบาล ที่ปรึกษา ส่วนบริการปรึกษาการเงินและการร่วมลงทุน
ฝ่ายประสานและบริการ SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

Exit mobile version