ที่มาของแผนธุรกิจที่เราทำกันในปัจจุบัน

ตลอดช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา แผนธุรกิจถือเป็นหัวข้อหนึ่งที่มีผู้สนใจ และต้องการศึกษาในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก ทั้งจาก ผู้ประกอบการ และจากผู้สนใจรวมทั้งนิสิตนักศึกษา เนื่องจากปัจจุบันการขอสินเชื่อเพื่อการดำเนินธุรกิจ ทางธนาคารหรือ สถาบันการเงิน จะร้องขอให้ผู้ขอกู้ จัดทำ แผนธุรกิจประกอบการขอกู้ด้วยทุกครั้ง ตั้งแต่วงเงินระดับหลักหมื่นหรือหลักแสนขึ้นไป ซึ่งต่างจากในอดีต ที่ผู้ขอกู้เพียงเขียน รายละเอียด เกี่ยวกับรายรับรายจ่ายของธุรกิจก็เพียงพอแล้ว หรือถ้ามีความจำเป็นต้องจัดทำ ก็จะเป็นเฉพาะวงเงินสินเชื่อ ในระดับหลายสิบล้าน หรือระดับหลายร้อยล้านบาทเท่านั้น

ซึ่งการที่ต้องมีการจัดทำแผนธุรกิจนี้ถือเป็น ปัญหาของผู้ประกอบการโดยทั่วไป ที่ยังขาดทักษะ หรือยังมี ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำแผนธุรกิจที่ไม่ถูกต้อง และนอกจากนี้ในปัจจุบันที่สถาบันการศึกษา ตั้งแต่ระดับอาชีวะศึกษา ไปจนถึงระดับ อุดมศึกษา เริ่มมีการเรียนการสอนเกี่ยวกับ การเขียนแผนธุรกิจ มีการจัดประกวดแข่งขัน ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ ทำให้นิสิต นักศึกษา ที่ศึกษาด้านธุรกิจ หรือมีความเกี่ยวข้อง มีความตื่นตัวเกี่ยวกับการจัดทำแผนธุรกิจมากขึ้นกว่าเดิมเป็นอย่างมาก

แต่เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีตำราวิชาการในประเทศ ที่กล่าวถึงเนื้อหาของการเขียนแผนธุรกิจโดยตรง โดยส่วนใหญ่มักเป็น การกล่าวถึง เฉพาะโครงสร้างของแผนธุรกิจ หรือวิธีการเขียน รวมถึงไม่มีบทความใดๆที่จะกล่าวถึงการใช้ประโยชน์ และแนวทางต่างๆ ในการใช้ประโยชน์ ของแผนธุรกิจในทางปฏิบัติ หรือถ้าเป็นเอกสารตำราของต่างประเทศที่มีอยู่ ก็อาจจะมีรายละเอียดเนื้อหา จำนวนมาก และอาจไม่สัมพันธ์ กับวัตถุประสงค์และลักษณะของการจัดทำแผนธุรกิจสำหรับประเทศไทย ผู้เขียนจึงเห็นว่า ความรู้เกี่ยวกับ การจัดทำ แผนธุรกิจเป็นเรื่องที่ควรจะกล่าวถึงเป็นอย่างยิ่ง

โดยจากประสบการณ์ของผู้เขียน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ การเป็นวิทยากรอบรมด้านแผนธุรกิจ และความรู้ด้านการประกอบธุรกิจแก่ SMEs ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (สสว.) ที่ผู้เขียนเห็นว่า รายละเอียด ต่างๆ เกี่ยวกับปัญหา และแนวทางต่างๆเกี่ยวกับ การจัดทำแผนธุรกิจ จากประสบการณ์ของผู้เขียนนี้ น่าที่จะเป็นประโยชน์ ต่อผู้สนใจ บ้างไม่มาก ก็น้อย ตั้งแต่กระบวนการในการเริ่มต้นการจัดทำแผนธุรกิจ จนกระทั่งถึงขั้นตอนการนำเสนอแผนธุรกิจ เพื่อให้ผู้อ่านที่สนใจ สามารถใช้ศึกษา อ้างอิงเพื่อให้มีความเข้าใจ ขั้นตอนต่างๆเกี่ยวกับ การจัดทำแผนธุรกิจที่ดีได้มากยิ่งขึ้น โดยเนื้อหาต่างๆที่จะกล่าวถึงจะมิใช่การเขียนในเชิงวิชาการหรือเป็นข้อมูลด้านวิชาการ เนื่องจากผู้อ่านสามารถศึกษาได้จากแหล่งความรู้อื่นๆทั่วไปที่มีอยู่ ทั้งจากหนังสือด้านแผนธุรกิจ คู่มือการเขียนแผนธุรกิจ เอกสารตำรา การอบรมด้านแผนธุรกิจ หรือข้อมูลต่างๆที่ระบุไว้ใน Website ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเนื้อหาต่างๆอาจจะแบ่ง เป็นตอนๆ สั้นบ้างยาวบ้างแล้วแต่เนื้อหาในแต่ละเรื่อง ซึ่งหวังว่าผู้สนใจจะได้ติดตามรายละเอียดจนครบถ้วน

อดีตที่ผ่าน

ในอดีตที่ผ่านมาแผนธุรกิจมิได้ถือว่า เป็นเอกสารสำคัญ หรืออาจกล่าวได้ว่าไม่จำเป็นต้องมีเอกสารนี้เลย ในการขอสินเชื่อ หรือใช้ ประกอบการ พิจารณาอนุมัติสินเชื่อ โดยมีเฉพาะองค์กรใหญ่ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเฉพาะองค์กรจากต่างประเทศ และมักจะเป็น องค์กรระดับสากล ที่มีมาตรฐานด้านการบริหารจัดการระดับสูงเท่านั้นที่มีการจัดทำ โดยส่วนใหญ่แล้ว การจัดทำแผนธุรกิจดังกล่าว มักเป็นไปเพื่อใช้ใน การบริหารจัดการองค์กรเป็นสำคัญ และสำหรับองค์กรหรือผู้ประกอบการในประเทศ การขอวงเงินสินเชื่อในอดีต ก็ไม่มีความจำเป็น ที่ผู้ประกอบการหรือผู้ขอกู้ จะต้องจัดทำแผนธุรกิจประกอบการขอสินเชื่อ ถ้ามิใช่วงเงินระดับหลายสิบ หรือหลายร้อยล้านบาท หรือแม้แต่วงเงินกู้ที่ถึงระดับดังกล่าว ก็อาจไม่มีความจำเป็น ต้องจัดทำแผนธุรกิจก็ได้ โดยเป็นเพียง ผู้ขอกู้กรอกรายละเอียดต่างๆ ในแบบคำขอสินเชื่อ (Loan Application) ที่ทางธนาคารหรือสถาบันการเงินกาหนดไว้ เกี่ยวกับข้อมูล ธุรกิจ รายรับ-รายจ่ายของธุรกิจ คำนวณหายอดคงเหลือ หรือผลกำไรของกิจการ เพื่อพิจารณาว่ากำไรคงเหลือนั้น เพียงพอในการชำระเงินกู้ ซึ่งประกอบด้วย เงินต้นและดอกเบี้ย หรือไม่ โดยหลักโดยทั่วไปของการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารหรือสถาบันการเงินหรือหลัก 5Cs ที่ใช้เป็นมาตรฐาน คือ Character (คุณลักษณะ), Credit (ความน่าเชื่อถือ), Capacity (ความสามารถในการผ่อนชำระ), Collateral (หลักประกัน) และ Condition (เงื่อนไข) รวมทั้งสิ้น 5 ประการ ก็ยังถือเป็นเกณฑ์พื้นฐานทั่วไปในการอนุมัติสินเชื่อจนถึงปัจจุบัน

โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ยังยึดถือเกี่ยวกับเรื่องของหลักประกันซึ่งเน้นหนักที่อสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก ทำให้การพิจารณา ให้น้ำหนักที่ตัว Character และ Collateral เป็นสำคัญ โดยในเรื่องของ Credit และ Capacity และ Condition อาจถือเป็นเรื่อง รองลงมา แม้ว่าจะบอกกันทั่วไปว่าดูทั้งหมด 5 ประการก็ตาม แต่อย่างไรก็ตาม “No Land No Loan” ก็ยังเป็นข้อเท็จจริงอยู่ สำหรับการขอกู้เงิน ากธนาคารหรือสถาบันการเงินแม้ในปัจจุบันก็ตาม ประกอบกับในอดีตก่อนหน้านี้การอนุมัติหรือพิจารณาสินเชื่อนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเป็น การใช้วงเงินไม่มากนักในการทำธุรกิจ ซึ่งมักจะอยู่ในดุลยพินิจหรือ ความรับผิดชอบของ เจ้าหน้าที่สินเชื่อ สาขาเป็นหลัก ที่จะเป็นผู้อนุมัติ วงเงินสินเชื่อได้ด้วยตนเอง ตามขอบเขตที่ทางธนาคารกำหนด หรืออาจอยู่ขอบเขตของผู้จัดการ สาขาธนาคาร ที่สามารถอนุมัติได้เลย เพื่อความสะดวก

โดยอาจจะไม่มีระบบคณะกรรมการพิจาณาอนุมัติอย่างเข้มงวดเช่นในปัจจุบัน โดยถ้าจำเป็นจะต้องผ่าน การพิจารณา อนุมัติสินเชื่อจากคณะกรรมการ ของธนาคารหรือสถาบันการเงิน เจ้าหน้าที่สินเชื่อ ที่ดูแลลูกค้านี้ก็มักจะเป็นผู้จัดทำรายละเอียด เกี่ยวกับตัวธุรกิจ ของผู้ขอกู้ในการนำเสนอ เพื่อพิจารณาจากผู้จัดการสาขา หรือคณะกรรมการ โดยข้อมูลที่ได้เหล่านี้ ก็จะมาจากการที่ได้ไปสำรวจ หรือศึกษาข้อมูลต่างๆ จากธุรกิจ หรือจากการประเมินราคา หลักประกัน ซึ่งในอดีตเจ้าหน้าที่สินเชื่อเป็นผู้ประเมินราคาหลักประกันเอง โดยมิต้องอาศัยผู้ประเมินราคา หรือบริษัทประเมินราคา ทรัพย์สิน ภายนอกเช่นในปัจจุบัน หรือจากใช้วิธีสัมภาษณ์ข้อมูล ต่างๆของ ผู้ประกอบการที่เป็นอยู่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เจ้าหน้าที่สินเชื่อซึ่งเป็นผู้พิจารณา เป็นผู้จัดทำข้อมูลของธุรกิจหรือแผนธุรกิจเพื่อการขอ อนุมัติให้ผู้ประกอบการเสียเอง ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็เป็นเช่นนี้มาเป็นเวลาเนิ่นนานตั้งแต่ในอดีต จนกระทั่งตั้งแต่ช่วงหลังปี 2530 เป็นต้นมา เริ่มมีการโยกย้ายฐาน การผลิต จากต่างประเทศ เช่น จากประเทศญี่ปุ่น อเมริกาเข้ามาลงทุนในประเทศไทยที่มีฐานค่าแรงงานที่ต่ำกว่า และประเทศข้างเคียงในภูมิภาคเดียวกันยังมีการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยม ทำให้ประเทศไทย เป็นประเทศเดียว ในภูมิภาคอินโดจีนที่มีศักยภาพในการลงทุน จึงก่อให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่จำนวนมากจากต่างประเทศ ราคาที่ดินในประเทศ เริ่มมีการถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลทำให้ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เริ่มขยายตัว เพื่อรองรับตาม การลงทุนที่เกิดขึ้นจาก ภาคอุตสาหกรรมดังกล่าว รวมถึงความต้องการที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น การย้ายฐานแรงงานจากภาคเกษตรกรรมสู่ภาคอุตสาหกรรม จากชนบท สู่ตัวเมือง ทำให้ตั้งแต่ช่วงเวลาดังกล่าวเกิดโครงการ (Project) ต่างๆขึ้นมากมาย เพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงิน จากธนาคารและ สถาบันการเงิน และเริ่มเห็นภาพได้อย่างชัดเจนตั้งแต่ ปี 2532

ยุคทองอสังหาฯ ยุคทอง Feasibility Study

จากการขยายตัวของการย้ายฐานการลงทุนของธุรกิจจากต่างประเทศ รวมถึงในช่วงเวลาการบริหารงานของอดีตนายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ที่เปลี่ยนมาใช้นโยบายจากสนามรบเป็นสนามการค้า ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มของยุคทอง ในภาคธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์อย่างแท้จริง ตั้งแต่ประมาณปี 2532 ทำให้เกิดโครงการด้านอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นแทบทุกวัน ไม่ว่าจะเป็น ที่ดินแบ่งขาย ที่ดินจัดสรร โครงการ ทาวน์เฮาส์ ตึกแถว อาคารพาณิชย์ คอนโดมิเนียม โรงแรม โรงงาน ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้ประกอบการเพียงปักป้ายลงบนที่ดิน แปลงใด แปลงหนึ่ง ซึ่งเพียงแค่ทำสัญญามัดจำไว้ ก็สามารถขายโครงการได้แล้ว ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้ประกอบการจำนวนมาก ที่กระโดดเข้ามา ทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากสามารถ สร้างผลกำไร ได้อย่างมากมาย สามารถกลายเป็น มหาเศรษฐีได้ใน ชั่วเวลาเพียง ข้ามคืน โดยอาจจะไม่ต้องลงทุนใดๆเลย ขอให้เพียงแต่มีที่ดิน แปลงงามๆ หรือรู้จักเจ้าของที่ดินหรือผู้ต้องการลงทุน ทำให้อาชีพนายหน้าที่ดิน ถือเป็นอาชีพที่สร้าง ผลตอบแทนได้อย่างมหาศาล อีกทั้งธนาคารหรือสถาบันการเงิน ก็มีความยินดีที่จะปล่อยเงินกู้ให้กับ โครงการด้าน อสังหาริมทรัพย์

เนื่องจากโครงการ สามารถคืน เงินกู้ได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากระยะเวลาโครงการส่วนใหญ่จะกินเวลาเพียง 1-3 ปี เท่านั้น และผู้ประกอบการด้าน อสังหาริมทรัพย์ก็มัก จะไม่เกี่ยงเรื่องอัตราดอกเบี้ย ที่อาจจะสูงกว่าธุรกิจประเภทอื่น ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าว ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นธุรกิจหลัก ที่ทุกๆธนาคารหรือสถาบันการเงินให้การสนับสนุน โดยเฉพาะการให้สัดส่วนระหว่างหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio) ในระดับสูง เช่น อาจถึงระดับ 10 : 1 หรือมากกว่า กล่าวคือผู้กู้สามารถกู้เงินได้ถึง 10 ล้านบาท แม้ว่าตนเอง จะมีทุนเพียง 1 ล้านบาท หรือน้อยกว่า ก็ตาม เป็นต้น ซึ่งจะแตกต่างกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างมากมาย ที่สัดส่วนระหว่างหนี้สินต่อทุน ที่ทางธนาคาร หรือสถาบันการเงินให้จะอยู่ในระดับเพียง 1 : 1 หรืออย่างมากเพียง 2 : 1 เท่านั้น

แต่เนื่องจากที่การจัดทำโครงการด้านอสังหาริมทรัพย์ มีความแตกต่างจากธุรกิจประเภทอื่น เนื่องจากไม่มีสินค้า หรืออาคารที่ก่อสร้าง แล้ว เสร็จให้เห็น เพราะในสมัยนั้นใช้การขายแบบ Pre-sale คือขายแบบบนกระดาษก่อนก่อสร้างจริง ไม่มีเครื่องจักรอุปกรณ์ ให้พิจารณา เพราะเป็นเรื่องการลงทุนของผู้รับเหมาก่อสร้าง คงมีเพียงเฉพาะที่ดินว่างเปล่า ซึ่งมักจะเป็นของผู้กู้ ที่จะทำการก่อสร้าง เท่านั้น ทำให้เจ้าหน้าที่สินเชื่อไม่สามารถใช้วิธีการนำเสนอ หรือเขียนรายละเอียดของธุรกิจหรือโครงการ เพื่อการขออนุมัติได้เหมือน แบบธุรกิจเดิมๆ ที่เคยเป็นมา จึงทำให้โครงการต่างๆเหล่านี้จำเป็นต้องให้ผู้ประกอบการหรือผู้ลงทุนโครงการ เป็นผู้นำเสนอ รายละเอียด ต่างๆให้ครบถ้วน ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนกระทั่งปิดโครงการ เนื่องจากเป็นโครงการหรือธุรกิจที่เริ่มจากศูนย์ หรือจากเพียง ที่ดินว่างเปล่า ที่จะมีการพัฒนา ในอนาคต มีการลงทุนและการเบิกจ่ายเพื่อการพัฒนาที่ดิน การก่อสร้างอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้าง มีการวางแผนการขาย การวางเงินดาวน์ การโอน รวมถึงมูลค่าของโครงการที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งเจ้าหน้าที่สินเชื่อ โดยทั่วไป อาจไม่สามารถระบุรายละเอียดดังกล่าวได้อย่าง ครบถ้วน เพียงพอ เหมือนการจัดทำรายละเอียด เพื่อขออนุมัติสินเชื่อ เหมือนแต่เดิมที่ผ่านมา และจากมูลค่าของโครงการที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ต้อง ผ่านการอนุมัติจาก คณะกรรมการของธนาคาร หรือสถาบันการเงิน จึงต้องมีการร้องขอให้ผู้ประกอบการหรือผู้ลงทุน จัดทำการศึกษา ความเป็นไปได้ของโครงการ (Project Feasibility Study) เสนอประกอบการพิจารณาโครงการที่จะขอสินเชื่อ หรือเจ้าหน้าที่สินเชื่อ ที่มีความรู้ด้านการเงินเป็นอย่างดี ก็อาจรับเป็นผู้จัดทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการให้กับผู้ขอกู้เอง หรือที่เรียกกันว่าสินเชื่อมือปืน คือรับเขียนด้วยนำเสนอเอง ด้วย ขออนุมัติให้ด้วย ประเภททรีอินวัน ซึ่งการขอรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการดังกล่าวนี้ ก็ถูกใช้เรื่อยมาจนกระทั่ง ในปัจจุบันคำว่า “เสนอโครงการ” ก็ยังคงถูกเรียกติดปากจากเจ้าหน้าที่สินเชื่อ แม้ว่าจะเป็นธุรกิจอื่น ที่มิใช่อสังหาริมทรัพย์ก็ตาม และถูกเรียกขานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อต้องการให้ผู้ประกอบการเสนอ แผนธุรกิจหรือแผนดำเนินการ เมื่อติดต่อขอกู้ แม้ว่าผู้ประกอบการต้องการสินเชื่อเพื่อดำเนินโดยมิใช่การดำเนินการในลักษณะโครงการ เช่น ลักษณะของโครงการ อสังหาริมทรัพย์ก็ตาม จากที่มาดังกล่าวนี่เอง

ภาวะฟองสบู่…สู่ยุคตกต่ำ

ภาวะดังกล่าวเกี่ยวกับการขอสินเชื่อ และการเสนอรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการก็ได้ดำเนินมาตลอดเรื่อยมา จนกระทั่งถึงช่วงปี 2538 ระบบเศรษฐกิจของประเทศเริ่มเกิดสัญญาณของภาวะฟองสบู่ การเพิ่มขึ้นของการแข่งขัน ในอัตราดอกเบี้ย ทั้งด้านเงินฝาก และด้านเงินกู้ ภาวะการเก็งกำไร การโจมตีค่าเงินบาทจากกองทุน Hedge Fund ของต่างประเทศ มาตรการที่ทาง ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือธปท. กำหนดให้ธนาคารหรือสถาบันการเงิน ต้องมีการการตั้งสำรอง ตามระดับการจัดชั้นหนี้ รวมถึง สัญญาณอื่นๆในการบริโภคของผู้บริโภค เช่น การใช้จ่ายเงินเกินตัว การผิดนัดบัตรเครดิต เป็นต้น ส่งผลให้ในปี 2540 ประเทศไทย จำเป็นต้องประกาศลดค่าเงินบาท ซึ่งทำให้เกิด ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ธุรกิจต่างๆประสบกับภาวะล้มละลาย ประเทศไทยต้องเข้าโครงการฟื้นฟูของ กองทุนการเงิน ระหว่างประเทศ หรือ IMF หนี้สินและทรัพย์สินต่างๆที่ใช้ค้ำประกัน หนี้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆที่ต้องปิดตัวลง โครงการต่างๆ ถูกทิ้งร้าง หนี้และภาระหนี้ต่างๆถูกขายออกไปให้กับ กลุ่มกองทุนจากต่างประเทศ ตามโครงการฟื้นฟูหนี้ หรือจากการดำเนินการโดยปรส. บางส่วนที่เป็นหนี้ที่ยังสามารถดำเนินการได้ ถูกขายให้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ต่างๆ ในช่วงเวลาดังกล่าว

ผู้ประกอบการและ ธุรกิจต่าง ได้รับผลกระทบ กลายเป็น NPL หรือ Black Lists กันอย่างมากมาย และยังส่งผลกระทบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ผู้ประกอบการไม่สามารถติดต่อ ขอกู้เงิน จากธนาคารหรือสถาบันการเงินใดๆได้เลย ถ้ามีประวัติการเป็น NPL หรือ Black Lists มาก่อน รวมถึงธนาคารหรือ สถาบันการเงิน ก็จะไม่เสี่ยง ในการให้เงินกู้กับผู้ประกอบการรายเดิมที่เคยทำธุรกิจ แม้ว่าจะไม่ถึงกับขาดทุนหรือล้มละลาย ถ้าไม่แน่ใจว่า ธุรกิจของผู้ประกอบการรายนั้นสามารถประสบความสำเร็จได้ เพราะภาระของการที่ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน อาจจะต้อง ตั้งสำรองหนี้ โดยจะยังคงให้วงเงินเฉพาะกับผู้ประกอบรายเดิม และเป็นลูกหนี้เดิม ของทางธนาคารหรือสถาบันการเงินนั้น ที่ยังมี ความสามารถประคองตัวอยู่รอดได้เท่านั้น โดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการใหม่แล้ว โอกาสในการขอเงินกู้ธนาคาร หรือสถาบันการเงินแทบ จะถือได้ว่า เป็นศูนย์เลยทีเดียว

ช่วงเวลาของ SMEs ที่มาของแผนธุรกิจ

โดยต่อมาตั้งแต่ช่วงปี 2543-2544 เป็นต้นมา ภาครัฐได้เห็นความสำคัญของวิสาหิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs ที่จะถือเป็น กลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จากเดิมที่เห็นความผิดพลาดที่มุ่งเน้นแต่ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาค อุตสาหกรรม การผลิต โดยลืมนึกถึงวิสาหิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ถือเป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจในประเทศไทย จึงได้มีการ จัดตั้ง สำนักงาน ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ขึ้นตาม พรบ.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ในปี 2543 ซึ่งถือเป็น องค์กรหลักในการประสานงานและสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ที่ให้ความช่วยเหลือ SMEs รวมถึงการออก มาตรการ กระตุ้น เศรษฐกิจต่างๆ รวมถึงการใช้ช่องทางของธนาคารหรือสถาบันการเงินของรัฐ เป็นช่องทางใน การกระตุ้น ระบบเศรษฐกิจแก่ SMEs เช่น ธนาคารกรุงไทย หรือ บรรษัทอุตสาหกรรมขนาดย่อม (บอย.) ซึ่งกลายสภาพเป็น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจ ขนาดกลางและ ขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME Bank ในปัจจุบัน

เพื่อเป็นตัวอย่างในการอนุมัติวงเงินสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ ต่อธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินอื่นๆ ที่ยังคงเหลืออยู่ ในระบบเศรษฐกิจ เราจึงได้เห็นโฆษณาของธนาคารภาครัฐเรื่องของ อัศวินม้าขาว จาก ธนาคารกรุงไทย หรือโฆษณา Oasis กลางทะเลทราย ของ บอย. ที่ให้โอกาสกับ ผู้ประกอบการรายเดิม ที่สามารถฟื้นตัวขึ้นมาหรือสำหรับผู้ประกอบการใหม่ อันเป็นจุดเริ่มของ การให้สินเชื่อ แก่ผู้ประกอบการ เนื่องจากเห็นว่า ยังมีผู้ประกอบการ จำนวนมาก ที่มีศักยภาพในการทำธุรกิจอยู่ในระบบเศรษฐกิจ แต่เนื่องจากอาจถือว่า ความเข็ดขยาดของธนาคาร หรือสถาบันการเงิน ที่มีต่อผู้ประกอบการที่ไม่มีศักยภาพ และความสามารถเพียงพอในการทำธุรกิจ ทำให้ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน ออกเกณฑ์บังคับเบื้องต้นต่อผู้ประกอบการ ให้มีการจัดทำแผนธุรกิจหรือ Business Plan ประกอบการขอกู้ด้วย

เพื่อพิจารณาว่า ผู้ประกอบการรายดังกล่าว มีการวางแผนในการดำเนินธุรกิจที่ดีเพียงใด โดยเฉพาะความรู้ด้านการตลาด หรือสภาวะการแข่งขัน และแผนการเงิน เพื่อพิจารณาว่า ผู้ประกอบการมีการบริหารจัดการที่ดีเพียงใด มีการบริหารต้นทุน การหารายได้ มีผลกำไรของธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องของเงินสด ที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญของความอยู่รอดของธุรกิจ มีการวางแผนการบริหารจัดการที่ดี และเหมาะสมเพียงใด เพราะนอกจากจะช่วยเป็นสิ่งที่ช่วยให้ธนาคารหรือสถาบันการเงิน ในการใช้ประเมินศักยภาพ และความสามารถ ของ ผู้ประกอบการ และ ยังเป็นสิ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงในการอนุมัติสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการดังกล่าวอีกด้วย โดยในช่วงต้นการร้องขอให้มี การจัดทำแผนธุรกิจ ประกอบการขอกู้ ยังคงเป็นเฉพาะวงเงินสินเชื่อ ในระดับล้านหรือหลายสิบล้านขึ้นไป ซึ่งแม้แต่ผู้เขียนเองก็ไม่สามารถหาหลักฐานยืนยัน และก็ไม่แน่ใจนักว่า ธนาคารแห่งใดที่เป็นผู้เริ่มต้นในการถือเป็นข้อกำหนด ที่ต้องให้ผู้ประกอบการจัดทำแผนธุรกิจ ประกอบ ถ้าต้องการ ขอวงเงินสินเชื่อเป็นแห่งแรก แต่จากภายหลังที่แผนธุรกิจถือ เป็นเครื่องมือที่ดีในการสร้างความเข้าใจของเจ้าหน้าที่สินเชื่อ ต่อศักยภาพ ของผู้ประกอบการ การดำเนินธุรกิจ อนาคตในการเติบโต และการลดความเสี่ยงของทางธนาคาร ทำให้ธนาคาร และสถาบันการเงินแห่งอื่น ที่ยังไม่มีข้อกำหนดดังกล่าว เกี่ยวกับการจัดทำ แผนธุรกิจประกอบการขอสินเชื่อ เล็งเห็นถึงประโยชน์ของแผนธุรกิจต่อการพิจารณาสินเชื่อ และได้เริ่มมีข้อกำหนดเกี่ยวกับ การต้องให้ผู้ประกอบการจัดทำแผนธุรกิจ ประกอบการขอวงเงินสินเชื่อทุกครั้งเช่นเดียวกัน โดยเริ่มพบเห็น ข้อกำหนด ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา

จนกระทั่งปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าทุกๆวงเงินสินเชื่อ ไม่ว่าจะเป็น วงเงินระดับใดก็ตาม ที่ผู้ประกอบการต้องการ ขอกู้จากธนาคารหรือสถาบันการเงินเพื่อการดำเนินธุรกิจ จำเป็นต้องจัดทำแผนธุรกิจ (Business Plan) ประกอบ การขอกู้ด้วยทุกครั้ง ซึ่งผู้ประกอบการก็อาจจะเขียนแผนธุรกิจขึ้น จากโครงสร้างที่ธนาคารและสถาบันการเงินนั้นกำหนดไว้ จากโครงสร้างของ แผนธุรกิจที่ศึกษาจากตำราอ้างอิง จากคู่มือการเขียนแผนธุรกิจ จากแหล่งข้อมูลอ้างอิงต่างๆ หรือจากประสบการณ์ของตนเอง ที่ได้เคยศึกษา หรือได้เข้าคอร์สอบรมเกี่ยวกับการเขียนแผนธุรกิจ ทั้งที่เป็นการเขียนด้วยตนเอง หรือว่าจ้างบุคคลภายนอก เป็นผู้เขียนแผนธุรกิจให้เป็นกรณีไป

อ้างอิง : รัชกฤช คล่องพยาบาล ที่ปรึกษา ส่วนบริการปรึกษาการเงินและการร่วมลงทุน
ฝ่ายประสานและบริการ SMEs สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

Exit mobile version